Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การพัฒนาทักษะการอ่านคำโดยใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันร่วมกับการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง สำหรับเด็กออทิสติก โรงเรียนวัดป่าข่อยใต้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1

ผู้วิจัย นางเขมิกา วงศ์ใหญ่

ปีการศึกษา 2568

วันที่เผยแพร่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านคำโดยใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันร่วมกับการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง สำหรับเด็กออทิสติก 2) เพื่อศึกษาผลการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการพัฒนาทักษะการอ่านคำโดยใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับเด็กออทิสติก 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองในการพัฒนาทักษะการอ่านคำโดยใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันร่วมกับการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองสำหรับเด็กออทิสติก โรงเรียนวัดป่าข่อยใต้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มเป้าหมายการวิจัยครั้งนี้เป็นเด็กออทิสติก จำนวน 3 คน ที่มีปัญหาความสามารถด้านการอ่านคำและผู้ปกครองของเด็กออทิสติก จำนวน 3 คน ที่มีความพร้อมของผู้ปกครองในการมีส่วนร่วมการเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling)เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ (1) แผนการสอนเฉพาะบุคคล จำนวน 27 แผน (2) แบบบันทึกผลความสามารถการอ่านคำของชุดฝึกทักษะการอ่านคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (3) แบบบันทึกผลแบบทดสอบความคงทนในการอ่านคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (4) แบบบันทึกการมีส่วนร่วมผู้ปกครองในการฝึกชุดฝึกทักษะการอ่านคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (5) คู่มือการใช้สื่อการสอนออนไลน์สำหรับผู้ปกครอง (6) แบบประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครอง การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการบันทึกการประชุม การสัมภาษณ์ และการติดตามผลการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองมาจัดระบบข้อมูลโดยการจัดประเภทหรือหมวดหมู่ สังเคราะห์ แปลความหมายและตีความข้อมูลที่ได้รวบรวม เพื่ออธิบายและบรรยายถึงสิ่งที่ค้นพบ เพื่อให้เข้าใจความหมายในสิ่งที่ได้เรียนรู้และปรากฏการณ์ที่ได้ศึกษา จากข้อมูลจากการสนทนาและข้อมูลการตกลงร่วมกันจากการประชุมข้อมูลที่ได้จากการศึกษาความสามารถในการอ่านคำของเด็กออทิสติกและการประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการดำเนินการวิจัยผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ

          ผลการวิจัยพบว่า (1) เด็กทั้ง 3 คนมีผลพัฒนาทักษะการอ่านคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
ที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการประเมินความสามารถพื้นฐาน
(2) ผู้ปกครองทั้ง 3 คนให้การสนับสนุนการเรียนของเด็กขณะอยู่ที่บ้านซึ่งเป็นการสอนการทบทวนโดยใช้สื่อออนไลน์ให้เด็กมีความแม่นยำในเนื้อหามากขึ้นและผู้ปกครองยังสามารถเรียนรู้การให้แรงเสริมและการปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็ก(3) ผู้ปกครองมีความพึงพอใจที่มีต่อการพัฒนาทักษะการอ่านคำโดยใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันร่วมกับการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองสำหรับเด็กออทิสติก โรงเรียนวัดป่าข่อยใต้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 มีระดับความพึงพอใจมากที่สุด