Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง ภาวะผู้นำดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษาในเขตคุณภาพการศึกษาที่ 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2

ผู้วิจัย พรพรรณ แก้วมณี

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 19 กุมภาพันธ์ 2568

บทคัดย่อ

    การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษาในเขตคุณภาพการศึกษาที่ 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2 2) เพื่อนำเสนอแนวทางพัฒนาภาวะผู้นำดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษาในเขตคุณภาพการศึกษาที่ 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ข้าราชการครูในสถานศึกษาในเขตคุณภาพการศึกษาที่ 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2 จำนวน 113 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งมีโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้คือ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของกลุ่มตัวอย่าง

     ผลการศึกษาพบว่า 1) ภาวะผู้นำดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษาในเขตคุณภาพการศึกษาที่ 3 ทั้งภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านการมีวิสัยทัศน์ดิจิทัล ด้านการรู้ดิจิทัล ด้านการสื่อสารดิจิทัล ด้านการเป็นพลเมืองดิจิทัล ด้านการสร้างวัฒนธรรมดิจิทัล ตามลำดับ 2) แนวทางการพัฒนาภาวะผู้นำดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษา พบว่า 1) ควรได้รับการพัฒนาการสร้างวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาและยกระดับให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 2) ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ มีความรอบคอบ ระมัดระวัง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม 3) ควรได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำเครื่องมือดิจิทัลที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน 4) ควรพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการสื่อสารในองค์กร 5) ควรเป็นแบบอย่างในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบ

          จากการศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับภาวะผู้นำดิจิทัลของผู้บริหารสถานศึกษาในเขตคุณภาพการศึกษาที่ 3 ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการนำพาสถานศึกษาให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารและพัฒนาการศึกษา มุ่งเน้นการแปลงวิสัยทัศน์ดิจิทัลให้เป็นรูปธรรม ศึกษากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างลึกซึ้ง รวมถึงพัฒนาทักษะการวิเคราะห์และใช้ข้อมูลดิจิทัลเพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองดิจิทัล เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ