Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศของผู้บริหารสถานศึกษา โรงเรียนวัดท่าเกวียน (สัยอุทิศ) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2

ผู้วิจัย สุวินัย รื่นพิทักษ์

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 19 กุมภาพันธ์ 2568

บทคัดย่อ

     การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศของผู้บริหารสถานศึกษาในการบริหารโรงเรียนวัดท่าเกวียน (สัยอุทิศ) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2 และ 2) หาแนวทางการพัฒนาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศของผู้บริหารสถานศึกษาในการบริหารโรงเรียนวัดท่าเกวียน (สัยอุทิศ) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2 ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ข้าราชการครูโรงเรียนวัดท่าเกวียน (สัยอุทิศ) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2 จำนวน 96 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งมีโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของประชากร และการวิเคราะห์เนื้อหา

     ผลการศึกษาพบว่า 1) การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศของผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อการบริหารโรงเรียนวัดท่าเกวียน (สัยอุทิศ) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทุกด้านมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ซึ่งด้านการควบคุม ติดตาม และประเมินผล มีค่าเฉลี่ยสูงสุด และด้านการจัดการระบบเครือข่ายมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด 2) แนวทางการพัฒนาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศของผู้บริหารสถานศึกษาในการบริหารโรงเรียนวัดท่าเกวียน (สัยอุทิศ) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2 ประกอบด้วย ด้านที่ 1 โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น ผู้บริหารควรวางแผนและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เครือข่ายอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์เทคโนโลยี ระบบข้อมูลกลาง และการพัฒนาทักษะบุคลากร พร้อมจัดตั้งทีมงานผู้เชี่ยวชาญเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต ด้านที่ 2 การจัดการระบบเครือข่าย เช่น พัฒนาระบบเครือข่ายอินทราเน็ตที่เสถียร ปลอดภัย รองรับการเรียนออนไลน์ การจัดการข้อมูล และการสื่อสาร พร้อมอบรมบุคลากรและปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง ด้านที่ 3 การวางแผนกลยุทธ์ เช่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกฝ่ายในการกำหนดกลยุทธ์ยืดหยุ่น สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว และประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญ ด้านที่ 4 การกำหนดบทบาทหน้าที่ เช่น กำหนดบทบาทและหน้าที่ในงานเทคโนโลยีอย่างชัดเจน ส่งเสริมการพัฒนาทักษะบุคลากร และสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ยั่งยืน และด้านที่ 5 การควบคุม ติดตาม และประเมินผล เช่น จัดทำคู่มือความรับผิดชอบ กำหนดขั้นตอนการติดตามผลการใช้งานเทคโนโลยี ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ผล และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรับผิดชอบในองค์กร     

     ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ 1) เป็นข้อมูลสำหรับโรงเรียนวัดท่าเกวียน (สัยอุทิศ) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2 เพื่อใช้ประกอบการวางแผนพัฒนาและส่งเสริมการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศของผู้บริหารสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 2) ผู้บริหารสถานศึกษาได้แนวทางการพัฒนาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศของผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อการบริหารที่สามารถนำไปเป็นแนวปฏิบัติได้จริง ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ควรขยายขอบเขตการศึกษาเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้และการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ ควรมีการติดตามผลการพัฒนาและการปรับใช้เทคโนโลยีในระยะยาวเพื่อประเมินประสิทธิภาพ และควรมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการเรียนการสอน โดยเน้นการใช้สื่อดิจิทัลและแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสำหรับนักเรียน


คำสำคัญ: เทคโนโลยีสารสนเทศ, เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร, การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ