Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบซิปปาร่วมกับรูปแบบกระบวนการทางภูมิศาสตร์ และชุดการเรียนรู้สาระภูมิศาสตร์ เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระภูมิศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

ผู้วิจัย นางไพรินทร์ เสนหล้า

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 1 มีนาคม 2568

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

          การวิจัยครังนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบซิปปาร่วมกับกระบวนการทางภูมิศาสตร์ ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับชุดการเรียนรู้สาระภูมิศาสตร์ เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในสาระภูมิศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) พัฒนาชุดการเรียนรู้สาระภูมิศาสตร์ เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในสาระภูมิศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วยการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปาร่วมกับกระบวนการทางภูมิศาสตร์ ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อศึกษาค่าดัชนีประสิทธิผลการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วยการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปาร่วมกับกระบวนการทางภูมิศาสตร์ และชุดการเรียนรู้สาระภูมิศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 4) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนและหลังเรียน ด้วยการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปาร่วมกับกระบวนการทางภูมิศาสตร์ และชุดการเรียนรู้สาระภูมิศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่6  5)เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปาร่วมกับกระบวนการทางภูมิศาสตร์ และชุดการเรียนรู้สาระภูมิศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

          เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แผนการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปาร่วมกับรูปแบบกระบวนการทางภูมิศาสตร์ เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สาระภูมิศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 14 แผนการจัดการเรียนรู้ รวม 22 ชั่วโมง ชุดการเรียนรู้สาระภูมิศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 14 ชุด แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในสาระภูมิศาสตร์ เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ (Multiple Choice) 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนทีมีต่อการเรียนโดยใช้ชุดการเรียนรู้สาระภูมิศาสตร์  กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปาร่วมกับรูปแบบกระบวนการทางภูมิศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) มี 5 ระดับ จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบสมมติฐานโดยใช้สถิติค่าที  ซึ่งกลุ่มทดลองที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอนุบาลหนองปาครั่ง สังกัด เทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 จำนวนทั้งหมด 19 คน

           ผลการวิจัยพบว่า

           1) ประสิทธิภาพแผนการจัดการเรียนรู้สาระภูมิศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วยการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปาร่วมกับกระบวนการทางภูมิศาสตร์ มีค่าความเหมาะสมเท่ากับ 4.83 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.03 และมีคุณภาพในระดับเหมาะสมมากที่สุด

           2) ประสิทธิภาพชุดการเรียนรู้สาระภูมิศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วยการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปาร่วมกับกระบวนการทางภูมิศาสตร์ มีประสิทธิภาพ 86.97/83.11 ซึ่งผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80

           3) ค่าดัชนีประสิทธิผลการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วยการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปาร่วมกับกระบวนการทางภูมิศาสตร์ และการใช้ชุดการเรียนรู้สาระภูมิศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.68 แสดงว่านักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น 0.68 หรือ คิดเป็นร้อยละ 68.00

           4) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วยการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปาร่วมกับกระบวนการทางภูมิศาสตร์ และการใช้ชุดการเรียนรู้สาระภูมิศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

           5) ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการเรียนการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปาร่วมกับกระบวนการทางภูมิศาสตร์ และการใช้ชุดการเรียนรู้สาระภูมิศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด