Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง ผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ(Best Practice) การบริหารจัดการโดยใช้ NPS Model เล่มนี้รวบรวมขึ้น เพื่อเป็นเอกสารประกอบการเข้ารับการประเมินโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข

ผู้วิจัย โรงเรียนบ้านหนองไผ่ดุสิตประชาสรรค์

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 2 มีนาคม 2568

บทคัดย่อ

๑. ความเป็นมาและความสำคัญของผลงานหรือนวัตกรรมที่นำเสนอ

          .๑ สภาพปัญหา

จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบในเชิงบวกและเชิงลบ โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาพบว่า มีผู้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดไม่ว่าจะเป็น บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ ในกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนปลายเป็นต้นไป นำมาซึ่งปัญหาระดับครอบครัวและสังคม รวมถึงปัญหาด้าน สื่อลามกอนาจาร การพนันและการทะเลาะวิวาท เป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปจากสังคมไทยได้หมดสิ้น อีกทั้งแนวทางการแก้ไขมักเป็นการดำเนินคดีหลังเกิดเหตุ แทนที่จะป้องกันตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความตระหนักถึงปัญหา โทษ ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งไม่ดี และการสร้างค่านิยมใหม่แก่นักเรียนและเยาวชนให้อยู่ห่างไกลยาเสพติดและพฤติกรรมที่ ไม่เหมาะสม เป็นต้น

          กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศนโยบายพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะที่ดี มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ และห่างไกลจากพฤติกรรมเสี่ยง กำหนดมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนก่อนวัยเสี่ยงและในวัยเสี่ยงไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้อง รู้ทันโทษและพิษภัย รู้จักวิธีปฏิเสธหลีกเลี่ยง ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เพื่อหลีกเลี่ยงการหมกมุ่น มั่วสุมกับยาเสพติดและอบายมุข ตลอดจนดูแลช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดผ่านโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข (ประกาศเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘)  ซึ่งมุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ มีเป้าหมายเพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งปลอดจากยาเสพติดและอบายมุข กำหนดนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทด้านความมั่นคง และแผนการศึกษาแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ ด้านการจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคง ภายใต้กรอบมาตรการ ๔ ด้าน ได้แก่  มาตรการที่ ๑ มาตรการสร้างการรับรู้และการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในสถานศึกษา,มาตรการที่ ๒ มาตรการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในสถานศึกษา, มาตรการที่ ๓ มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งในสถานศึกษา และมาตรการที่ ๔ มาตรการอำนวยการ โดยประสานความร่วมมือกับผู้ปกครอง และองค์กรในท้องถิ่นเพื่อสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้เชื่อมโยงสารสนเทศและ     ความร่วมมือระหว่างกัน

จากสถานการณ์ปัญหาและนโยบายดังกล่าว โรงเรียนบ้านหนองไผ่ดุสิตประชาสรรค์ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนักถึงปัญหาและพิษภัยของยาเสพติดที่อาจเกิดขึ้นในโรงเรียน จึงร่วมกันหาวิธีการในการรับมือ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมุ่งเน้น “การตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” คือ การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับนักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหาร ให้มีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตอาสา รู้จักเสียสละ ไม่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและอบายมุข  ผ่านนวัตกรรม NPS Model” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับนักเรียนผ่านการการปฏิบัติจริง โดยมีผู้บริหาร,คณะครู,ครู D.A.R.E. และ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นผู้จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความรับผิดชอบและสร้างสรรค์อย่างหลากหลาย ทำให้นักเรียนรู้จัก ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่งเสริมให้เป็นคนที่มีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ มีคุณธรรม มีภูมิคุ้มกัน  ในตัวเอง และตระหนักถึงปัญหายาเสพติด สื่อลามกอนาจาร การพนันและการทะเลาะวิวาท เมื่อนักเรียนมีคุณธรรมหรือคุณลักษณะที่ดีย่อมไม่นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบไม่สร้างความเดือดร้อนเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม และช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป