ชื่อเรื่อง การพัฒนาทักษะการช่วยเหลือตนเองด้านการแต่งกาย โดยใช้แบบวิเคราะห์งานร่วมกับการเสริมแรงเชิงบวกสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดลำปาง หน่วยบริการอำเภอแม่ทะ 3
ผู้วิจัย นางสาวจารุวรรณ ตุ้ยคำลือ
ปีการศึกษา 2567
วันที่เผยแพร่ 9 เมษายน 2568
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาทักษะการช่วยเหลือตนเองด้านการแต่งกาย โดยใช้แบบวิเคราะห์งานร่วมกับการเสริมแรงเชิงบวกสำหรับนักเรียน ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดลำปาง หน่วยบริการอำเภอแม่ทะ 3 โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน (Classroom Action Research: CAR) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบบันทึกการสังเกต และแบบประเมินทักษะการช่วยเหลือตนเองด้านการแต่งกาย เก็บข้อมูลด้วยกระบวนการ 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 การวางแผน (Planning) ขั้นที่ 2 การปฏิบัติ (Action) ขั้นที่ 3 การสังเกตผล (Observation) และ ขั้นที่ 4 ขั้นการสะท้อนผล (Reflection) กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ห้องเรียนหน่วยบริการ อำเภอแม่ทะ 3 ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดลำปาง ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (purposive sampling) ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 จำนวน 3 คน โดยใช้สถิติพื้นฐาน การหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ขั้นวางแผน (Plan) นักเรียนทุกคน ไม่ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 80 เนื่องจากนักเรียนไม่เข้าใจในกระบวนการจัดการเรียนรู้ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ อีกทั้งนักเรียนยังไม่กล้าถามครูเมื่อตนเองไม่เข้าใจ และพูดคุยกับเพื่อนในกลุ่ม ทำให้ไม่สามารถทำงานได้เสร็จตามเวลาที่กำหนด
2. ขั้นปฏิบัติการเรียนการสอน (Act)
ครั้งที่ 1 พบว่า ทักษะการช่วยเหลือตนเองด้านการแต่งกายของเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาทั้ง 3 คนอยู่ในระดับ ปรับปรุง ยังไม่สามารถจำขั้นตอนการแต่งกายได้
ครั้งที่ 2 เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญามีผลการประเมินการปฏิบัติการแต่งกายทั้ง 3 คนอยู่ในระดับดี ทั้ง 3 คน ซึ่งยังมีปัญหาตอนสวมเสื้อลงบนหัว ดึงลงมาถึงคอ
ครั้งที่ 3 และ 4 เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีผลการประเมินการปฏิบัติการแต่งกาย ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 3 คนโดยอยู่ในระดับ ดีเยี่ยม ซึ่งยังมีปัญหาความคล่องแคล่ว ครูผู้สอนยังต้องให้คำชี้แนะ
3. ขั้นสังเกตการณ์ (Observation) ผลการประเมินทักษะการช่วยเหลือตนเองด้านการแต่งกาย ก่อนและหลังใช้ แบบวิเคราะห์งานร่วมกับการเสริมแรงเชิงบวก พบว่า นักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ประเมินทุกคน โดยได้คะแนน ร้อยละ 80 ขึ้นไป จำนวน 3 คน
4. ขั้นการสะท้อนผลการปฏิบัติ (Reflect) กิจกรรมสะท้อนผลการเรียนขั้น R (Reflect) พบว่า นักเรียนสามารถทำกิจกรรมได้สำเร็จตามเวลาที่กำหนด และนักเรียนยังมีความกล้าในการออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน โดยที่ไม่ต้องให้เพื่อนในกลุ่มเลือก และกล้าถามครูทันทีเมื่อไม่เข้าใจ
คำสำคัญ: การแต่งกาย การเสริมแรงเชิงบวก เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา