Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดเชิงบริหารสำหรับเด็กออทิสติกระดับปฐมวัย ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก

ผู้วิจัย นางจิตฎาภา เรืองสุวรรณ์

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 23 พฤษภาคม 2568

บทคัดย่อ

         การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการจัดประสบการณ์ การเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดเชิงบริหารสำหรับเด็กออทิสติกระดับปฐมวัย 2) เพื่อสร้างและหาคุณภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดเชิงบริหารสำหรับเด็กออทิสติกระดับปฐมวัย 3) เพื่อศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดเชิงบริหารสำหรับเด็กออทิสติกระดับปฐมวัย 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองที่มีต่อผลการพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงบริหารของเด็กออทิสติกระดับปฐมวัย การดำเนินการวิจัยมี 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดเชิงบริหารสำหรับเด็กออทิสติกระดับปฐมวัย กลุ่มเป้าหมาย คือ ครู จำนวน 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ขั้นตอนที่ 2 การสร้างและหาคุณภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน และเด็กออทิสติกระดับปฐมวัยกลุ่มทดลองนำร่อง ซึ่งไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 3 คน ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ กลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กออทิสติก ระดับปฐมวัย จำนวน 3 คน กำลังศึกษาอยู่ชั้นเตรียมความพร้อม 2 ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 โดยการเลือกแบบเจาะจง ขั้นตอนที่ 4 การศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองที่มีต่อผลการพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงบริหารของเด็กออทิสติกระดับปฐมวัย กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ปกครอง จำนวน 3 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม แบบสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบ แบบประเมินความเหมาะสมของคู่มือการใช้รูปแบบ แบบประเมินความสามารถในการคิดเชิงบริหาร แบบประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครอง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติพื้นฐาน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

          ผลการวิจัยพบว่า

          1. ผลการศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดเชิงบริหารสำหรับเด็กออทิสติกระดับปฐมวัย ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก ดังนี้

              1.1 สภาพปัญหาในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิด    เชิงบริหารสำหรับเด็กออทิสติกระดับปฐมวัย ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก พบว่า 1) ด้านครู ครูขาดความรู้เกี่ยวกับทักษะการคิดเชิงบริหารที่เหมาะสมกับเด็กออทิสติก และไม่สามารถสื่อสารและจัดการชั้นเรียนเมื่อเด็กออทิสติกแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว 2) ด้านเด็ก เด็กออทิสติกมีปัญหาในการสื่อสาร การสร้างปฏิสัมพันธ์ การควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม มีช่วงความสนใจสั้น ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง มีปัญหาการตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางประสาทสัมผัส มีปัญหาด้านสมาธิและความจำ มีความยากลำบากในการประมวลผลข้อมูล ไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้ไปใช้งานได้ 3) ด้านสื่อการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอนขาดความหลากหลายและไม่สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของเด็กออทิสติก  

              1.2 แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดเชิงบริหารสำหรับเด็กออทิสติกระดับปฐมวัย ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก พบว่า 1) จุดเน้นที่สำคัญ ครูต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะการคิดเชิงบริหารในองค์ประกอบที่สอดคล้องกับพฤติกรรม   ที่เป็นปัญหาของเด็กออทิสติก 2) ปัจจัยที่ทำให้การจัดประสบการณ์การเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพ        ควรดำเนินการส่งเสริมทักษะการคิดเชิงบริหารอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน    ว่าต้องการพัฒนาในด้านใด ครูควรสังเกตพฤติกรรมเพื่อค้นหาจุดที่บกพร่อง จัดสภาพแวดล้อมให้สงบและเป็นระเบียบ เน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าและการเล่น กิจกรรมควรมีความท้าทายที่เหมาะสมกับวัยและความสามารถ หลังเสร็จกิจกรรมให้เด็กได้ทบทวนและสะท้อนคิด รวมทั้งสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับเด็กภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้ที่อบอุ่นและปลอดภัย 3) เทคนิคและกระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ในด้านความจำเพื่อใช้งาน ควรออกแบบกิจกรรม ที่ฝึกการจดจำและเรียกใช้ข้อมูลผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ โดยเพิ่มความซับซ้อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านการยั้งคิดไตร่ตรอง ควรฝึกผ่านกิจกรรมที่ส่งเสริมการควบคุมอารมณ์ การรอคอย และการตัดสินใจ โดยใช้สถานการณ์จำลองที่มีความยากเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ด้านการยืดหยุ่นความคิด ควรออกแบบกิจกรรม ที่ฝึกการปรับตัวผ่านสถานการณ์ที่หลากหลาย 4) การเตรียมสื่อและแหล่งเรียนรู้ ควรใช้สื่อที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้และปลอดภัย พร้อมจัดสภาพแวดล้อมที่หลากหลายทั้งมุมเล่น มุมทำงานกลุ่ม มุมเรียนรู้     และพื้นที่เคลื่อนไหว ภายใต้บรรยากาศที่อบอุ่น ปลอดภัยและน่าสนใจ เพื่อสร้างความมั่นใจและ ความเชื่อมั่นในตัวครูให้กับเด็ก 5) การเตรียมตัวของครูผู้สอน ครูต้องเข้าใจพัฒนาการและรูปแบบการเรียนรู้เฉพาะของเด็กออทิสติกระดับปฐมวัย ทั้งด้านการสื่อสาร อารมณ์และสังคม เพื่อปรับกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน รวมถึงควรศึกษาหลักการพัฒนาทักษะการคิดเชิงบริหารเพื่อให้ออกแบบกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งครูต้องมีความยืดหยุ่น มีความคิดริเริ่ม มีทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และควบคุมอารมณ์ตนเองเมื่อเผชิญกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์

          2. รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดเชิงบริหารสำหรับเด็กออทิสติกระดับปฐมวัย ประกอบด้วย ที่มาของรูปแบบและองค์ประกอบของรูปแบบ   การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ มี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) สาระการเรียนรู้ 4) กระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 5 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 เตรียมความพร้อม ขั้นที่ 2 นำเสนอประสบการณ์ ขั้นที่ 3 ลงมือปฏิบัติ ขั้นที่ 4 สะท้อนคิด ขั้นที่ 5 ประยุกต์ใช้ และ5) การประเมินผล การตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.86, S.D. = 0.35) และค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) ของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้   มีค่าเท่ากับ 0.7628 คิดเป็นร้อยละ 76.28

          3. ผลการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดเชิงบริหารสำหรับเด็กออทิสติกระดับปฐมวัย พบว่า ความสามารถในการคิดเชิงบริหารก่อนและหลังเรียน     ด้วยรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ โดยรวมมีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน คือ ก่อนเรียนได้คะแนนเฉลี่ย 36.33 หลังเรียนได้คะแนนเฉลี่ย 103.33 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้นจากก่อนเรียนเฉลี่ย 67 คะแนน และมีพัฒนาการความสามารถในการคิดเชิงบริหาร คิดเป็นร้อยละ 80.13

          4. ผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองที่มีต่อผลการพัฒนาความสามารถในการคิด   เชิงบริหารของเด็กออทิสติกระดับปฐมวัย พบว่า โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด    ( = 4.76 , S.D. = 0.43)