Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะตามหลัก 3Rs โรงเรียนศรัทธาสมุทร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 10 สมุทรสงคราม

ผู้วิจัย นายอุทัย จงแพ

ปีการศึกษา 2562

วันที่เผยแพร่ 22 มิถุนายน 2564

บทคัดย่อ

การประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะตามหลัก 3Rs โรงเรียนศรัทธาสมุทร สำนักงานเขตพื้นที่

การศึกษามัธยมศึกษา เขต 10 สมุทรสงคราม ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะตามหลัก 3Rs โรงเรียนศรัทธาสมุทร ปีการศึกษา 2562 โดยใช้รูปแบบการประเมินซิป (CIPP Model) ของ สตัฟเฟิลบีม จำนวน 4 ด้าน คือ ด้านบริบทหรือด้านสิ่งแวดล้อม (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input ) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product) และประเมิน ความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินโครงการโรงเรียนปลอดขยะ ตามหลัก 3Rs โรงเรียนศรัทธาสมุทร โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นครูผู้ปฏิบัติหน้าที่การสอนและบุคลากร 110 คน เก็บข้อมูลได้ 110 คน คิดเป็นร้อยละ 100 เป็นนักเรียน 327 คน เก็บข้อมูลได้ 327 คน คิดเป็นร้อยละ 100 กำหนดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางกำหนดขนาดของ เคร็จซี่ และมอร์แกน (Krejcie & Morgan. 1970:607-610) แล้วทำการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random- Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating- Scale) 5 ระดับ ได้ค่าความเที่ยงตรง (IOC) ของแบบสอบถามครูผู้ปฏิบัติหน้าที่การสอน ทั้งฉบับเท่ากับ 1.00 และได้หาค่าความเที่ยงตรง (IOC ของแบบสอบถามนักเรียน ทั้งฉบับ เท่ากับ 1.00 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)

ผลการประเมินโครงการสรุปได้ ดังนี้

ผลการประเมินโครงการในภาพรวมพบว่า ครูผู้ปฏิบัติหน้าที่การสอนและบุคลากร นักเรียน มีความเห็นสอดคล้องกันว่าโครงการโรงเรียนปลอดขยะตามหลัก 3Rs โรงเรียนศรัทธาสมุทร มีความเหมาะสมในการดำเนินกิจกรรม อยู่ในระดับมาก (x̄ = 3.87, S.D. = 0.65)

1. ผลการประเมินในด้านบริบทหรือด้านสภาวะแวดล้อม พบว่า ครูผู้ปฏิบัติหน้าที่การสอนและบุคลากร มีความเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาประเด็นต่างๆ พบว่าหลักการ วัตถุประสงค์เป้าหมาย การเตรียมการของกิจกรรมตามโครงการมุ่งการสร้างการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นกับนักเรียน ครู บุคลากรในโรงเรียนและสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ และกิจกรรมตามโครงการมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาของโรงเรียน อยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.03, S.D. = 0.61)

2. ผลการประเมินในด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า ครูผู้ปฏิบัติหน้าที่การสอนและบุคลากร

มีความเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาประเด็นต่างๆ พบว่าบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ อาคาร สถานที่ และงบประมาณ มีความเหมาะสม เพียงพอต่อการดำเนินงาน ครูและบุคลากรมีความรู้ ความสามารถในการจัดกิจกรรมตามโครงการโรงเรียนปลอดขยะ ตามหลัก 3Rs โรงเรียนศรัทธาสมุทร มีความเหมาะสม อยู่ในระดับมาก (x̄ = 3.78, S.D. = 0.62)

3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า ครูผู้ปฏิบัติหน้าที่การสอนและบุคลากร นักเรียน มีความเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาประเด็นต่างๆ พบว่ากิจกรรมซึ่งประกอบด้วย

1) กิจกรรมการรณรงค์ 2) กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ 3) กิจกรรมธนาคารขยะโรงเรียน 4) กิจกรรม การจัดการเรียนการสอนบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรเพิ่มเติม 5) กิจกรรมลูกศรัทธา 3Rs รวมใจ ลด ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ 6) กิจกรรม Big Cleaning Day และ 7)กิจกรรมครอบครัวพอเพียง มีจำนวนที่เหมาะสม เพียงพอ สอดคล้องกับความต้องการในการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นกับนักเรียน ครู บุคลากรในโรงเรียน และสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ และมีการนิเทศ ติดตาม กำกับ และ การประเมินผล เป็นไปตามขั้นตอน ที่โครงการโรงเรียนปลอดขยะ ตามหลัก 3Rs โรงเรียนศรัทธาสมุทร กำหนดอยู่ในระดับมาก (x̄ =3.86, S.D. =0.67)

4. ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า ครูผู้ปฏิบัติหน้าที่การสอนและบุคลากร นักเรียน

มีความเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาประเด็นต่างๆ พบว่าผลการดำเนินงานของโครงการโรงเรียนปลอดขยะตามหลัก 3Rs โรงเรียนศรัทธาสมุทร เมื่อสิ้นสุดโครงการ บรรลุตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย อยู่ในระดับมาก (x̄ = 3.82, S.D. = 0.68)

5. ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง พบว่า ครูผู้ปฏิบัติหน้าที่การสอนและบุคลากร นักเรียน มีความเห็นต่อการดำเนินโครงการสอดคล้องกันอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณา

ในประเด็นต่างๆ พบว่า โครงการโรงเรียนปลอดขยะตามหลัก 3Rs มีคุณค่าต่อท่าน และสังคมส่วนรวม และกิจกรรมของโครงการส่งผลให้สิ่งแวดล้อม บรรยากาศ ทัศนียภาพในโรงเรียน สะอาด ร่มรื่น สวยงาม และลดสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอยที่ส่งกลิ่นเน่าเหม็น มีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมาก (x̄ = 3.85, S.D. = 0.69)