Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การพัฒนาทักษะการฟังและการพูดจากการจัดกิจกรรม โดยใช้ปริศนาคำทายภาษาถิ่นตรังประกอบการเล่าเรื่องของเด็กปฐมวัย

ผู้วิจัย ศิราวรรณ สร้อยสนธิ์

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 21 พฤษภาคม 2567

บทคัดย่อ

การพัฒนาทักษะการฟังและการพูดจากการจัดกิจกรรม

โดยใช้ปริศนาคำทายภาษาถิ่นตรังประกอบการเล่าเรื่องของเด็กปฐมวัย

The Development Listening and Speaking Skills from Organizing Activities Using Riddles and Guesses Dialect Trang Compile Stories of Early Childhood

 

ศิราวรรณ สร้อยสนธิ์, ชุติมา ทัศโร

Sirawan Soyson, Chutima Thutsaro

คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สงขลา ประเทศไทย

The Faculty of Education and Liberal Arts, Hatyai University, Songkla, Thailand

 

บทคัดย่อ

           การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อเปรียบเทียบทักษะการฟังของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ปริศนาคำทายภาษาถิ่นตรังประกอบการเล่าเรื่อง และ 2) เพื่อศึกษาทักษะการพูดของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 จากการจัดกิจกรรมโดยใช้ปริศนาคำทายภาษาถิ่นตรังประกอบการเล่าเรื่อง โดยนักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 มีคะแนนตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนปิยบุตรศึกษากร จำนวน 5 ห้องเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนปิยบุตรศึกษากร     1 ห้องเรียน จำนวน 18 คน โดยใช้วิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluste Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ปริศนาคำทายภาษาถิ่นตรังประกอบการเล่าเรื่อง แผนการจัดประสบการณ์ แบบประเมินความรู้ ตอบคำถามประกอบภาพ และแบบวัดทักษะการพูด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า t – test ผลการวิจัยพบว่า 1) นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 เมื่อเรียนโดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ปริศนาคำทายภาษาถิ่นตรังประกอบการเล่าเรื่อง มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ 2) การจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ โดยใช้ปริศนาคำทายภาษาถิ่นตรังประกอบ การเล่าเรื่อง เพื่อส่งเสริมทักษะการพูด ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 94.44 มีนักเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 5.56 และมีคะแนนทักษะการพูด จากการจัดกิจกรรมโดยใช้ปริศนาคำทายภาษาถิ่นตรังประกอบการเล่าเรื่อง โดยรวม คิดเป็นร้อยละ 83.33 ของคะแนนเต็ม ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดคือ นักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 มีทักษะการพูดร้อยละ 75 ขึ้นไป