Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง ผลการพัฒนาการจดจำคำศัพท์ รายวิชาภาษาจีน โดยใช้สื่อประสม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา

ผู้วิจัย นายสมชนก หลอดคำ

ปีการศึกษา 2566

วันที่เผยแพร่ 10 มิถุนายน 2567

บทคัดย่อ

จากการดำเนินการวิจัยเรื่อง ผลการพัฒนาการจดจำคำศัพท์ รายวิชาภาษาจีน โดยใช้สื่อประสม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครอุดรธานี มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ (1) เพื่อหาประสิทธิภาพในการพัฒนาการจดจำคำศัพท์รายวิชาภาษาจีน โดยใช้สื่อประสม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียน ในการพัฒนาการจดจำคำศัพท์รายวิชาภาษาจีน ด้วยการใช้สื่อประสม ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา และ (3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ในการพัฒนาการจดจำคำศัพท์รายวิชาภาษาจีน ด้วยการใช้สื่อประสม ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา โดยกลุ่มตัวอย่างที่ทางผู้วิจัยใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/1 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา สำนักการศึกษา เทศบาลนครอุดรธานี ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 26 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมีทั้งหมดจำนวน 5 เครื่องมือ ดังนี้ (1) แผนการจัดการเรียนรู้รายวิชาภาษาจีนเรื่อง 你喜欢什么动物จำนวน 9 แผน และแบบประเมินคุณภาพและความสอดคล้องโดยผู้เชี่ยวชาญ (2) แบบฝึกหัดระหว่างเรียน จำนวน 5 ชุด และแบบประเมินคุณภาพและความสอดคล้องโดยผู้เชี่ยวชาญ
(3) แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ ก่อนเรียน - หลังเรียน 30 ข้อ จำนวน 1 ชุด และแบบประเมินคุณภาพความสอดคล้องโดยผู้เชี่ยวชาญ (4) นวัตกรรมการสอนสื่อประสม และแบบประเมินคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ชุด ได้แก่ (4.1) สื่อบัตรคำศัพท์ป๊อปอัพผีเสื้อ (4.2) สื่อบัตรคำศัพท์การ์ดสไลด์ (4.3) สื่อมัลติมีเดีย (4.4) สื่อเพลงแรป
动物 (4.5) สื่อเกมเปิดแผ่นป้าย และ (5) แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง你喜欢什么动物จำนวน 15 ข้อ และแบบประเมินคุณภาพวัดความสอดคล้องของข้อคำถามโดยผู้เชี่ยวชาญ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ความถี่(Frequency) ร้อยละ(Percentage) ค่าเฉลี่ย(Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(Standard Deviation)  การหาค่า IOC การหาค่าความยากง่ายและค่าอำนาจจำแนกของข้อสอบ การเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มที่ไม่เป็นอิสระต่อกัน (Paired-Sample T-Tests) การคำนวณหาประสิทธิภาพของกระบวนการ (E1) และประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E2) และวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

สรุปผลการวิจัย

1. ประสิทธิภาพในการพัฒนาการจดจำคำศัพท์รายวิชาภาษาจีน โดยใช้สื่อประสม ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 86.08/85.38 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ซึ่งผลของค่าประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้

2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในการพัฒนาการจดจำคำศัพท์รายวิชาภาษาจีน ด้วยการใช้สื่อประสม ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา ผลสัทฤทธิ์ก่อนเรียนคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 12.27 คะแนน และหลังเรียน เท่ากับ 25.62 คะแนน แสดงให้เห็นว่าผลสัมฤทธิ์หลังเรียนได้คะแนนที่สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ในการพัฒนาการจดจำคำศัพท์รายวิชาภาษาจีน ด้วยการใช้สื่อประสม ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยามีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.58 ซึ่งมีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับ มากที่สุด