Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ผสมผสานแบบยืดหยุ่น เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ

ผู้วิจัย นายชาตรี มูลชาติ

ปีการศึกษา 2566

วันที่เผยแพร่ 21 มิถุนายน 2567

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

          

           การวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ผสมผสานแบบยืดหยุ่น เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ  ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยโดยมีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ 1) ศึกษาสภาพ ปัญหา และแนวทางการจัดการเรียนการสอนรายวิชาการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ ของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ  2) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ผสมผสานแบบยืดหยุ่น เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 รายวิชาการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ ของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 3) ศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ผสมผสานแบบยืดหยุ่น เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 รายวิชาการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ ของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ  และ 4) ประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ผสมผสานแบบยืดหยุ่น เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 รายวิชาการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ ของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ  โดยได้นำแนวคิด หลักการร่วมกับกระบวนการดำเนินงานเชิงระบบ ที่ประกอบด้วยขั้นตอนการดำเนินการวิจัย 5 ขั้นตอน ภายใต้ขอบเขตการวิจัยที่ประกอบด้วย วัตถุประสงค์ ขั้นตอนการศึกษา กลุ่มเป้าหมาย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย วิธีสร้างและหาคุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย  มีขั้นตอน ดังนี้  1) ขั้นการวิเคราะห์ (Analysis) ศึกษาสภาพ ปัญหา และแนวทางการจัดการเรียนการสอนรายวิชาการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ 2) ขั้นการออกแบบ (Design) ร่างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ผสมผสานแบบยืดหยุ่น เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ประเมินรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 7 คน  3) ขั้นการพัฒนา (Development) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ ประเมินกิจกรรมการเรียนรู้  กลุ่มเป้าหมายนักศึกษาที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30  คน เป็นนักศึกษาที่เรียนรายวิชาการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ ปีการศึกษา 2565  4) ขั้นการทดลองใช้ (Implementation) จัดกิจกรรมตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาที่เรียนรายวิชาการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ ปีการศึกษา 2566 จำนวน 27 คน ได้จากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)  5) ขั้นการประเมินผล (Evaluation) วิเคราะห์ประสิทธิภาพของรูปแบบ เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิเคราะห์ดัชนีประสิทธิผล วิเคราะห์ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และวิเคราะห์ความพึงพอใจ  สถิติที่ใช้ได้แก่ สถิติพื้นฐาน ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ  t-test (dependent)

  ผลการวิจัยพบว่า

       1.  สภาพการจัดการเรียนการสอน อยู่ในระดับมากทุกด้าน คือ ด้านการวางแผนและการออกแบบการเรียนการสอน ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านสื่อและแหล่งการเรียนรู้  และด้านการวัดและประเมินผล

   ปัญหาการจัดการเรียนการสอน อยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน คือ ด้านการวางแผนและการออกแบบการเรียนการสอน ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านสื่อและแหล่งการเรียนรู้ และด้านการวัดและประเมินผล

   แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน อยู่ในระดับมากที่สุด คือ ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านสื่อและแหล่งการเรียนรู้ และด้านการวัดและประเมินผล ส่วนด้านที่อยู่ในระดับมาก คือ ด้านการวางแผนและออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

       2.  รูปแบบการจัดการเรียนรู้ผสมผสานแบบยืดหยุ่น เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) เนื้อหา 4) กิจกรรมการเรียนการสอน และ 5) การวัดและประเมินผล มี 5 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นเตรียมการ 2) ขั้นสอน 3) ขั้นกิจกรรม 4) ขั้นตรวจสอบ และ 5) ขั้นสรุปประเมินผล ด้านความเหมาะสมของรูปแบบการเรียนการสอนอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.27 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.58

       3.  ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น พบว่า ประสิทธิภาพรูปแบบการจัดการเรียนรู้ผสมผสานแบบยืดหยุ่น เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ 83.97/82.65 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 80/80, ±2.5  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่เรียนตามรูปแบบการเรียนการสอนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และทักษะแห่งศรรตวรรษที่ 21 ของนักศึกษาที่เรียนตามรูปแบบการเรียนการสอนอยู่ในระดับมาก  อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .01

          4.  ผลการประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน พบว่า ความพึงพอใจของนักศึกษาที่ได้รับการสอนตามรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น มีความพึงพอใจในภาพรวมทุกด้าน อยู่ในระดับพึงพอใจมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.37 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.78 และมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และมีค่าดัชนีประสิทธิผล เท่ากับ 0.76 ซึ่งมากกว่า 0.50 ขึ้นไป จึงเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด