ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการผสานการนิเทศเพื่อพัฒนาสมรรถนะครูด้านการบริหารจัดการห้องเรียนโปรแกรมพิเศษ ของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองสตูล
ผู้วิจัย ธันยาภัทร์ ปิติโชคทวีพงศ์
ปีการศึกษา 2566
วันที่เผยแพร่ 22 มิถุนายน 2567
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการผสานการนิเทศเพื่อพัฒนาสมรรถนะครูด้านการบริหารจัดการห้องเรียนโปรแกรมพิเศษ ของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองสตูล เป็นการวิจัยและพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบ 2) พัฒนารูปแบบ 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบ และ 4) ประเมินและปรับปรุงรูปแบบ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา 9 คน ครูผู้สอน 123 คน นักเรียน 331 คน และผู้ปกครอง 331 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามความต้องการจำเป็น แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบบันทึกการอภิปรายและสะท้อนปัญหา แบบประเมินผลการอบรมเชิงปฏิบัติการ แบบนิเทศหลังการอบรมเชิงปฏิบัติการ แบบบันทึกการสนทนาและถอดบทเรียน แบบประเมินผลการใช้รูปแบบ แบบบันทึกผลการใช้รูปแบบ แบบประเมินสมรรถนะครู แบบประเมินคุณภาพของรูปแบบ และแบบประเมินความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองมีความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการผสานการนิเทศเพื่อพัฒนาสมรรถนะครูด้านการบริหารจัดการห้องเรียนโปรแกรมพิเศษ โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (x = 4.34, S.D.= 0.58) ด้านความต้องการจำเป็นของครูและผู้เรียนมีค่าเฉลี่ยสูงสุด (x = 4.52, S.D.= 0.57) อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนความต้องการจำเป็นของเนื้อหามีค่าเฉลี่ยต่ำสุด (x = 4.23, S.D.= 0.59) อยู่ในระดับมาก ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันและปัญหาของการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนโปรแกรมพิเศษของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองสตูลทั้ง 5 โรงเรียน พบว่านักเรียนมีความหลากหลายทั้งด้านความสามารถ พื้นฐานทางการศึกษา และความต้องการทางการเรียน ครูจึงต้องเผชิญกับความท้าทายในการออกแบบบทเรียนที่ตอบสนองความต้องการ ครูมีภาระงานมาก ควรสนับสนุนงบประมาณ พัฒนาหลักสูตร สื่อ และรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม
2. ผลการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการผสานการนิเทศเพื่อพัฒนาสมรรถนะครูด้านการบริหารจัดการห้องเรียนโปรแกรมพิเศษ ได้ 4 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) ขั้นตอนการบริหารจัดการผสานการนิเทศ (TANYAPAT Model) 7 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ ขั้นที่ 1 สร้างครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง (T) ขั้นที่ 2 สร้างความตระหนักรู้ (A) ขั้นที่ 3 ขยายเครือข่ายครูรุ่นใหม่ (NY) ขั้นที่ 4 ยอมรับสภาพและปัญหาตามความเป็นจริง (A) ขั้นที่ 5 ร่วมวางแผนและออกแบบการเรียนรู้ (P) ขั้นที่ 6 ร่วมจัดการเรียนรู้เชิงรุก (A) และขั้นที่ 7 ทดสอบ แลกเปลี่ยน และสะท้อนการเรียนรู้ (T) และ 4) ระบบสนับสนุนขั้นตอนการบริหารจัดการผสานการนิเทศ มี 3 ระบบ ได้แก่ ระบบการสอนแนะและการเป็นพี่เลี้ยง ระบบการพัฒนาครูเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และระบบการหนุนเสริมและประเมินเพื่อการเรียนรู้
3. ผลการใช้รูปแบบการบริหารจัดการผสานการนิเทศ ในกลุ่มนำร่อง (Pilot Group) และกลุ่มทดลองจริง ภาพรวมมีผลการใช้รูปแบบอยู่ในระดับมาก (x = 4.21, S.D. = 0.66) โดยกลุ่มทดลองจริง มีผลการใช้รูปแบบอยู่ในระดับมาก (x = 4.37, S.D. = 0.67) ซึ่งมากกว่ากลุ่มนำร่อง (Pilot Group) ที่มีผลการใช้รูปแบบอยู่ในระดับมาก (x = 4.05, S.D. = 0.64) เช่นเดียวกัน
4. ผลการประเมินสมรรถนะครูด้านการบริหารจัดการห้องเรียนโปรแกรมพิเศษ ภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (x = 4.21, S.D. = 0.67) โดยด้านการสร้างพลังการเรียนรู้และแรงจูงใจ มีค่าเฉลี่ยสูงสุดและอยู่ในระดับมากที่สุด (x = 4.42, S.D. = 0.66) และผลการประเมินความพึงพอใจของครูผู้สอน นักเรียน และผู้บริหารสถานศึกษาที่มีต่อรูปแบบการบริหารจัดการผสานการนิเทศในภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (x = 4.40, S.D. = 0.66) โดยพึงพอใจในระบบสนับสนุนขั้นตอนการบริหารจัดการผสานการนิเทศสูงสุดและอยู่ในระดับมาก (x = 4.49, S.D. = 0.66)