Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การขับเคลื่อนระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) ด้วยรูปแบบการบริหารจัดการ POWER Model (พาวเวอร์ โมเดล) ของโรงเรียนวัดอ่าวช้างไล่ (สมเกตุประชาสรรค์)

ผู้วิจัย ดร.อัมพิกา สิริพรม

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 8 กรกฎาคม 2567

บทคัดย่อ

การขับเคลื่อนระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) ด้วยรูปแบบการบริหารจัดการ POWER Model (พาวเวอร์ โมเดล) ของโรงเรียนวัดอ่าวช้างไล่  (สมเกตุประชาสรรค์)

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อขับเคลื่อนระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Content Center) ของโรงเรียนวัดอ่าวช้างไล่ (สมเกตุประชาสรรค์)

๒. เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอน โดยใช้ระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Content Center)

๓. เพื่อส่งเสริมให้ครูผู้สอนได้แสดงผลงานที่มีผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ที่เกิดจาก การขับเคลื่อนระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Content Center)

การขับเคลื่อนระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) ด้วยรูปแบบการบริหารจัดการ POWER Model (พาวเวอร์ โมเดล) ของโรงเรียนวัดอ่าวช้างไล่ (สมเกตุประชาสรรค์) มีรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้

ขั้นตอนที่ ๑ Plan เป็นการวางแผนการดำเนินงาน โดยวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังถึงสภาพปัญหาของโรงเรียน และศึกษาความเป็นมาและความสำคัญของระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) จากนั้นเริ่มวางแผนการขับเคลื่อนระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) ภายในโรงเรียน โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงานที่ชัดเจน

ขั้นตอนที่ ๒ Organize เป็นการจัดการองค์กร โดยส่งตัวแทนครูผู้สอนเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ด้วยสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล ระดับการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (OBEC Content Center) ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต ๒ จากนั้นมีการประชุมเพื่อขยายผลจากการอบรมรับความรู้ และสร้างความเข้าใจในการขับเคลื่อนระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) ภายในโรงเรียน มีการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ด้วยระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) ระดับสถานศึกษา เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ให้คณะกรรมการแกนนำขับเคลื่อนการดำเนินงาน ซึ่งคณะกรรมการแกนนำขับเคลื่อนการดำเนินงานจะทำหน้าที่ให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการใช้งานระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) ให้กับครูทั้งโรงเรียน

ขั้นตอนที่ ๓ Work by tech เป็นการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีการพัฒนาครูผู้สอนเกี่ยวกับการใช้ระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) ให้ครูผู้สอนสามารถนำสื่อการสอนจากระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้จริง และส่งเสริมให้ครูผู้สอนสร้างสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนำเข้าระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) โดยผู้บริหารสถานศึกษา ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน จะทำการตรวจสอบคุณภาพสื่อของครูผู้สอน ก่อนนำสื่อการสอนเข้าสู่ระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center)

ขั้นตอนที่ ๔ Evaluate เป็นการประเมินผล ด้วยการนิเทศ กำกับ ติดตาม การใช้งานระบบคลังสื่อเทคโนโลยี (OBEC Content Center) และการสร้างสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล โดยแบ่งกลุ่มนิเทศออกเป็น ๕ กลุ่ม ได้แก่ ๑) กลุ่มวันจันทร์ ๒) กลุ่มวันอังคาร ๓) กลุ่มวันพุธ ๔) กลุ่มวันพฤหัสบดี และ ๕) กลุ่มวันศุกร์ ประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครู ร่วมกันนิเทศ กำกับ ติดตาม เพื่อประเมินผลการดำเนินงาน นอกจากนี้โรงเรียนยังจัดให้มีการประกวดผลงานที่มีผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ประเภทผู้สร้างสื่อเทคโนโลยี และประเภทผู้ใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อมอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติให้ครูผู้สอนเกิดแรงจูงใจในการดำเนินงานขับเคลื่อนระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) ต่อไป

ขั้นตอนที่ ๕ Reflection เป็นการสะท้อนผล จากการทำกิจกรรมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) โดยผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ข้อมูลป้อนกลับเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และผลการดำเนินงาน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาให้การดำเนินงานสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยแบ่งกลุ่มกิจกรรม PLC ออกเป็น ๕ กลุ่ม ตามลักษณะของกลุ่มนิเทศ พร้อมสรุปและรายงานผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต ๒ ทราบต่อไป

๓. ผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนระบบ OBEC Content Center

- ผลเชิงปริมาณ

๑) ด้านปริมาณสื่อ โรงเรียนวัดอ่าวช้างไล่ (สมเกตุประชาสรรค์) มีจำนวนผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ทั้งหมด ๒๙ คน มีการผลิตสื่อในระบบ OBEC Content Center จำนวน ๒๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๘๒.๗๖ ของบุคลากรทั้งหมด

๒) ด้านปริมาณการเข้าใช้ระบบ OBEC Content Center ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนวัดอ่าวช้างไล่ (สมเกตุประชาสรรค์) มีการเข้าใช้งานจากระบบ OBEC Content Center ที่เป็นปัจจุบัน มีความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ จากจำนวนผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ทั้งหมด ๒๙ คน มีเลเวลในระบบ OBEC Content Center อยู่ในระดับกบ จำนวน ๒๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๘๖.๒๑ ของบุคลากรทั้งหมด

- ผลเชิงคุณภาพ

๑) ผู้บริหารสถานศึกษา มีรูปแบบการบริหารจัดการขับเคลื่อนระบบ OBEC Content Center ที่เป็นรูปธรรม สามารถส่งเสริม สนับสนุน ให้ครูผู้สอนได้สร้างและใช้สื่อที่มีคุณภาพในการจัดการเรียนการสอน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างแท้จริง

๒) ครูและบุคลากรทางการศึกษา สามารถเข้าใช้งานระบบ OBEC Content Center โดยนำสื่อการสอนมาใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ และสามารถพัฒนาสื่อการสอนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้รับการส่งเสริมให้มีการแสดงผลงานที่มีผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ที่เกิดจากการขับเคลื่อนระบบ OBEC Content Center ส่งผลให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเกิดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน

๓) ผู้เรียน มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ อยากมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองจากสื่อที่หลากหลาย ได้พัฒนาทักษะการคิด และเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข โดยมีผลลัพธ์ที่เกิดจากผลในการขับเคลื่อนระบบ OBEC Content Center ระบุในรายงานการประเมินตนเอง (SAR) มาตรฐานที่ ๓ กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ อยู่ในระดับคุณภาพ ดีเลิศ