Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การพัฒนาทักษะการอ่านคำศัพท์ภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เรื่อง fruits ด้วยรูปแบบสื่อเทคโนโลยีระบบ OBEC Content Center ร่วมกับกระบวนการ SAMOR Model

ผู้วิจัย นางสาวปุณยาพร เชื่อมชิต

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 10 กรกฎาคม 2567

บทคัดย่อ

แบบรายงานผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best practice)

ประเภท ครูผู้ใช้สื่อเทคโนโลยีระบบ OBEC Content Center

ชิ่อผลงาน                   การพัฒนาทักษะการอ่านคำศัพท์ภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เรื่อง fruits ด้วยรูปแบบสื่อเทคโนโลยีระบบ OBEC Content Center ร่วมกับกระบวนการ SAMOR Model

ชื่อเจ้าของผลงาน           นางสาวปุณยาพร เชื่อมชิต

ตำแหน่ง                    ครู โรงเรียนวัดเขาสมอระบัง

สถานศึกษา                โรงเรียนวัดเขาสมอระบัง

สังกัด                        สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 1

 

ความเป็นมาและความสำคัญ

โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นยุคสังคมแห่งการเรียนรู้ มีการใช้เครื่องมืออย่างหลากหลายในการแสวงหาความรู้ ภาษาอังกฤษถือว่าเป็นทักษะที่สำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 และเป็นเครื่องมือที่สำคัญในยุคสังคมแห่ง การเรียนรู้ในปัจจุบัน ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่มีการใช้อย่างแพร่หลากหลายมากที่สุดภาษาหนึ่ง โดยที่องค์ความรู้ที่สำคัญของโลกส่วนใหญ่ถูกบันทึกและเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือเข้าถึงองค์ความรู้และก้าวทันโลก รวมถึงพัฒนาตนเองเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักถึงความสำคัญ ความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการเรียนการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อให้คนไทยมีความรู้ ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในระดับมาตรฐาน ในหลักสูตรของกํารศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดให้สาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ 8 เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างมนุษย์และศักยภาพพื้นฐานในการคิดและการทำงานโดยมีเป้าหมายหรือผลที่คําดหวังให้นักเรียนใช้ภาษาต่างประเทศสื่อสารในสถานการณ์ต่าง ๆ แสวงหาความรู้ ประกอบอาชีพและศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราว และวัฒนธรรมอันหลากหลายของประชาคมโลก และสามารถถ่ายทอดความคิดวัฒนธรรมไทยไปยังสังคมโลกได้อย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้นักเรียนในยุคโลกาภิวัฒน์ต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาได้มากกว่า 1 ภาษา คือ การใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับสากลได้ด้วย ถึงแม้ว่าภาษาอังกฤษได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือแม้กระทั่งระดับอุดมศึกษาเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าอย่างน้อยผู้เรียนจะต้องเรียนภาษาอังกฤษมากกว่า 10 ปี