ชื่อเรื่อง เรียนรู้ Project-based เป็นฐาน พัฒนา EF ด้านทักษะทางสมอง
ผู้วิจัย นางสาวแพรพลอย ศรีพรมมา
ปีการศึกษา 2566
วันที่เผยแพร่ 14 กรกฎาคม 2567
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาผลการพัฒนาทักษะทางสมอง (EF) โดยใช้การจัดประสบการณ์แบบโครงงานเป็นฐาน 2) เพื่อเปรียบเทียบทักษะทางสมอง (EF) ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์แบบโครงงานเป็นฐาน และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของพ่อแม่ ผู้ปกครองต่อรูปแบบการจัดประสบการณ์ “เรียนรู้ Project-based เป็นฐาน พัฒนา EF ด้านทักษะทางสมอง”กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3/1 จำนวน 18 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย1) แบบประเมินทักษะทางสมอง(EF) ประเมินความพฤติกรรมที่แสดงออกถึงทักษะทางสมองทั้ง 3 ด้าน คือ 1.การยืดหยุ่นความคิด 2.การติดตามประเมินตนเอง และ 3.การวางแผนจัดระบบดำเนินการ 2) แบบประเมินความพึงพอใจของพ่อแม่ ผู้ปกครองต่อรูปแบบการจัดประสบการณ์ “เรียนรู้ Project-based เป็นฐาน พัฒนา EF ด้านทักษะทางสมอง” 3) แผนการจัดประสบการณ์แบบโครงงานเป็นฐาน จำนวน 22 แผน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าฐานนิยม (Mode) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) สรุปผลวิจัย
1. ผลการประเมินทักษะทางสมอง(EF) หลังการจัดประสบการณ์แบบโครงงานเป็นฐาน พบว่า เด็กทุกคนมีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงทักษะทางสมอง(EF)
3 ด้าน อยู่ในระดับดี2.ผลการเปรียบเทียบทักษะทางสมอง(EF) ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์แบบโครงงานเป็นฐาน พบว่าด้านที่ 1 ทักษะการยืดหยุ่นความคิด ก่อนจัดประสบการณ์ฯ อยู่ในระดับปรับปรุง ร้อยละ 60 ระดับพอใช้ ร้อยละ 30 ระดับดี ร้อยละ 10 และหลังการจัดประสบการณ์ฯ อยู่ในระดับดีทุกคน คิดเป็นร้อยละ 100 ด้านที่ 2 ทักษะการติดตามประเมินตนเอง ก่อนจัดประสบการณ์ฯ อยู่ในระดับปรับปรุง ร้อยละ 50 ระดับพอใช้ ร้อยละ 40 ระดับดี ร้อยละ 10 และหลังการจัดประสบการณ์ฯ อยู่ในระดับดีทุกคน คิดเป็นร้อยละ 100 ด้านที่ 3 ทักษะการวางแผนจัดระบบดำเนินการ ก่อนจัดประสบการณ์ฯ อยู่ในระดับปรับปรุง ร้อยละ 50 ระดับพอใช้ ร้อยละ 50 และหลังการจัดประสบการณ์ฯ อยู่ในระดับดีทุกคน คิดเป็นร้อยละ 100 และ
3. พ่อแม่ ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการจัดรูปแบบการจัดประสบการณ์แบบโครงงานเป็นฐานอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.70 (S.D. = 0.52)