Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การจัดการเรียนรู้เชิงรุก Project Approach เรื่อง “หนังสือนิทานหรรษา” เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน

ผู้วิจัย นางสาวธนัชชา แสงนาค

ปีการศึกษา 2566

วันที่เผยแพร่ 17 กรกฎาคม 2567

บทคัดย่อ

                                                                        บทคัดย่อ

เด็กปฐมวัย เป็นเด็กที่มีอายุตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึง ๖ ปี ซึ่งเป็นวัยที่พัฒนาการด้านต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จะมีธรรมชาติและลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากบุคคลในวัยอื่น ๆ เป็นวัยที่กำลังสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว มีความอยากรู้อยากเห็น ช่างสงสัย ช่างซักถาม ชอบค้นคว้า สำรวจ อยู่ไม่นิ่ง ชอบอิสระ เป็นตัวของตัวเอง มีลักษณะของการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางจึงมักแสดงอารมณ์ต่าง ๆ อย่างเปิดเผยชอบทำตามและเลียนแบบผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จึงเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของชีวิต เพราะเป็นช่วงที่พัฒนาการทุกด้านจะเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ - จิตใจ ด้านสังคมและด้านสติปัญญาโดยผ่านการเรียนรู้โดยตรงจากประสาทสัมผัสทั้ง ๕ (ศศิพันธุ์ เปี๊ยนเปี่ยมสินและคณะ, ๒๕๕๗)  ดังนั้นการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัยหากได้รับการส่งเสริมและช่วยเหลืออย่างถูกวิธี เป็นไปตามขั้นตอนของพัฒนาการของเด็ก โดยคำนึงถึงความแตกต่างของเด็กแต่ละบุคคล จะทำให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมและศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปอย่างสูงสุด

การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยควรให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยการลงมือทำด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาเด็กทั้งทางด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ - จิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ การฝึกทักษะต่าง ๆ  ต้องให้เด็กมีประสบการณ์ผ่านกิจวัตรประจำวัน และการเล่นให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากการเลียนแบบ ลองผิดลองถูก สำรวจ ทดลอง และลงมือกระทำจริง (หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย,๒๕๖๐) ซึ่งทักษะด้านการอ่านของเด็กปฐมวัยนั้นจัดอยู่ในพัฒนาการด้านสติปัญญา โดยการอ่านของเด็กปฐมวัยเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องและเริ่มตั้งแต่วัยทารก โดยเริ่มจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ชี้ชวนให้เด็ก ๆ ดูรูปภาพในหนังสือนิทาน การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง หรือแม้แต่การที่เด็กมองเห็นตัวหนังสือตามสถานที่ต่าง ๆ

เนื่องจากในปัจจุบันมีสื่อและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เด็กปฐมวัยเข้าถึงสื่อต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ผู้ปกครองไม่มีเวลาอบรม เลี้ยงดู ทำให้เด็กปฐมวัยในยุคปัจจุบันไม่ค่อยสนใจการเรียนรู้ สมาธิสั้น และมักใช้เวลาว่างไปกับการเล่นโทรศัพท์ หรือดูทีวี เล่นเกม เพราะเป็นเรื่องที่สนุกสนาน ไม่เคร่งเครียด เมื่อเด็กไม่ได้ถูกปลูกฝังให้มีนิสัยรักการเรียนรู้ จึงเป็นเรื่องยากที่เด็กจะตั้งใจและสนุกสนานไปกับการอ่าน ซึ่งการอ่านนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับเด็กปฐมวัย เนื่องจากการอ่านเป็นรูปแบบนามธรรม เด็กต้องจดจำพยัญชนะไทยและสระต่าง ๆ จากนั้นจึงฝึกสะกดคำด้วยการอ่านออกเสียง และตีความหมายของคำ เด็กปฐมวัยบางคนจึงไม่ค่อยสนใจการอ่าน ไม่เข้าใจการสะกดคำ หรืออ่านได้บ้าง ไม่ได้บ้าง รวมถึงไม่มีความมั่นใจในการอ่าน

Project Approach เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ให้เด็กรูปแบบหนึ่ง ที่ให้โอกาสเด็กได้เลือกเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กสนใจในสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวเด็ก โดยเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ ตั้งคำถามในสิ่งที่ยังต้องการเรียนรู้หาคำตอบ รวมทั้งดำเนินการวางแผนสำรวจ สืบค้น บันทึก คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และคิดอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล และความรู้ต่างๆ เด็กเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยประสบการณ์ตรงหลากหลายวิธี แล้วสุดท้ายเด็กและครูร่วมกันสรุปเรียบเรียงขั้นตอนการเรียนรู้และสิ่งที่เรียนรู้ออกมาเป็นชิ้นงานและนิทรรศการอันเป็นการสรุปความคิดรวบยอดที่ดี ซึ่งการจัดการเรียนรู้รูปแบบ Project Approach เป็นการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) รูปแบบหนึ่งที่เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหาวิชา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ หรือสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตนเอง ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงผ่านสื่อหรือกิจกรรมการเรียนรู้ ที่มีครูผู้สอนเป็นผู้แนะนำ กระตุ้น หรืออำนวยความสะดวก  ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้น โดยกระบวนการคิดขั้นสูง กล่าวคือ ผู้เรียนมีการวิเคราะห์  สังเคราะห์ และการประเมินค่าจากสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมการเรียนรู้ ทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีความหมายและนำไปใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (สถาพร  พฤฑฒิกุล, ๒๕๕๘) การจัดการเรียนรู้รูปแบบ Project Approach จึงเหมาะสมที่จะนำมาใช้พัฒนาทักษะด้านการอ่านของเด็กปฐมวัยโดยจัดการเรียนรู้ผ่านหัวข้อที่เด็กสนใจ

จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น คุณครูถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการจัดการเรียนการสอน นอกจากผู้ปกครองแล้ว เด็กจะใกล้ชิด สนิทสนม และไว้ใจคุณครูของตนเองมากที่สุด การเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ครูจึงควรเป็นผู้ชี้แนะ คอยแนะนำแนวทาง และพัฒนาเด็กร่วมไปกับผู้ปกครองในทิศทางเดียวกัน ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันคือผู้ปกครองไม่ค่อยมีเวลาให้เด็ก ต้องออกไปทำงานหรือฝากผู้สูงอายุเลี้ยงที่บ้าน ทำให้พัฒนาการของเด็กขาดความต่อเนื่องจากที่บ้านและโรงเรียน บางครอบครัวให้เด็กเล่นโทรศัพท์ หรือดูทีวีมากจนเกินไป เด็กจึงขาดการเรียนรู้จากที่บ้าน ผู้จัดทำจึงจัดแนวทางในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านให้กับนักเรียนในระดับปฐมวัย ด้วยการจัดการเรียนรู้เชิงรุก รูปแบบ Project Approach ในหัวข้อที่เด็ก ๆ สนใจ และเลือกด้วยตนเอง เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ กระตือรือร้น อยากเรียนรู้ และสนุกสนานในการทำกิจกรรมมากขึ้น อีกทั้งยังสอดแทรกกิจกรรมที่ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน การสะกดคำ และการเขียนให้กับเด็ก ๆ เมื่อเด็กได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองผ่านสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ และสนใจ เด็กจะมีความสุขกับการเรียนรู้ และมีเจคติที่ดีต่อการอ่าน กล้าพูด กล้าแสดงออก เกิดความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อนักเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนในห้องเรียน ทำให้มีผลงานนำมาจัดแสดงหรือมีผลงานกลับบ้านไปฝากผู้ปกครอง  เด็กจะมีความพยายามและตั้งใจมากขึ้น ส่งผลให้ครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เมื่อผู้ปกครองและคุณครูร่วมมือกันพัฒนาเด็กไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้การจัดการเรียนรู้เชิงรุก รูปแบบ Project Approach ยังสามารถต่อยอดและพัฒนาทักษะอื่น ๆ ที่ต้องการพัฒนาในตัวเด็กได้ สามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้ทันยุคสมัย โดยหัวข้อที่เลือกเรียนจะเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ สนใจ และครูมีหน้าที่เลือกบูรณาการสอดแทรกทักษะต่าง ๆ เข้าไปในกิจกรรมด้วยตนเอง อาจใช้สื่อ เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาร่วมด้วย เช่น การให้เด็กสืบค้นข้อมูลสิ่งที่สนใจจากใน Youtube ครูและเด็กร่วมกันเลือกกิจกรรมศิลปะที่ต้องการทำผ่าน Pinterest แต่หัวใจสำคัญของการเรียนรู้เชิงรุก รูปแบบ Project Approach คือ การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ โดยหลังจากการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Project Approach เรื่อง “หนังสือนิทานหรรษา” เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน สามารถนำกิจกรรมไปต่อยอดและพัฒนาทักษะการฟัง การพูด และการเขียนต่อได้ในระดับประถมศึกษา