Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง พัฒนาระบบเทียบโอนคะแนนผลการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ผู้วิจัย นายเจนรบ โกรธา

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 25 กรกฎาคม 2567

บทคัดย่อ

          พัฒนาระบบเทียบโอนคะแนนผลการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพระบบเทียบคะแนนผลการเรียนรู้ด้วยตนเอง        2) เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน 3) เพื่อแก้ไขปัญหานักเรียนที่มีผลการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ และ 4) เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเห็นความสำคัญการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้วยตนเอง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 และครูผู้สอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โรงเรียนประชารัฐวิทยาเสริม ปีการศึกษา 2566 ได้แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา ระยะที่ 2 การกำหนดเกณฑ์และการพัฒนาระบบ และระยะที่ 3 การใช้งานและตรวจสอบประสิทธิภาพ ผลการวิจัยพบว่า
          1) ผลการดำเนินการระยะที่ 1 การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของนักเรียนรายบุคคล ประกอบด้วย ข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ข้อมูลพฤติกรรมการเข้าชั้นเรียน ข้อมูลผลการแข่งขัน การร่วมกิจกรรม จะพบว่าสามารถแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มช่วยเหลือ และกลุ่มส่งเสริม และผลการวิเคราะห์หาแนวทางแก้ปัญหามีการกำหนดให้พัฒนาเป็นระบบออนไลน์ Web Application การเทียบโอนคะแนน
          2) 
ผลการดำเนินการระยะที่ 2 การกำหนดเกณฑ์การเทียบคะแนน การใช้งานคะแนนและการพัฒนาระบบการเทียบคะแนน ขอนำเสนอเป็น 3 ส่วนคือ I) การกำหนดเกณฑ์การเทียบคะแนน พบว่าแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มการเข้าร่วมการแข่งขันทุกประเภท และกลุ่มการเข้าร่วมกิจกรรม การอบรม การเรียนรู้ การพัฒนาตนเอง II) การกำหนดเงื่อนไขการใช้งานคะแนน ได้กำหนดเป็น 2 ลักษณะคือ ใช้คะแนนกับรายวิชาที่อยู่ภายในกลุ่มสาระที่กำหนดในใบรับรอง ใช้คะแนนกับรายวิชาต่างกลุ่มสาระที่กำหนดในใบรับรอง และ III) ผลการศึกษาและพัฒนาระบบการเทียบคะแนน พบว่า สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนของ User (นักเรียนและผู้ปกครอง) ประกอบไปด้วย หน้าหลักสำหรับนักเรียน (ข้อมูลพื้นฐาน/รายการที่ขออนุมัติ) หน้าแบบส่งคำร้องขออนุมัติเทียบเพิ่มคะแนน หน้าพิมพ์ขอหนังสือรับรองการเทียบคะแนน   หน้าแนะนำแหล่งเรียนรู้ อบรม พัฒนาทักษะ หรือร่วมกิจกรรม และหน้าเงื่อนไขและข้อตกลง และส่วนของ Admin (ส่วนของผู้ดูแลระบบและครูที่รับผิดชอบ) ประกอบด้วย หน้าหลักสำหรับผู้ดูแลระบบ (ข้อมูลพื้นฐาน/รายการที่ขออนุมัติ) หน้ารายการคำขอที่ยังไม่ได้ตรวจสอบ หน้ารายชื่อนักเรียน (เพิ่มรายบุคคลหรือจาก Excel/แก้ไข/ลบ) หน้าเพิ่มข้อมูลแนะนำแหล่งเรียนรู้ อบรม พัฒนา หรือกิจกรรม หน้าสรุปรายงานรายการที่อนุมัติ และหน้าเงื่อนไขและข้อตกลง ข้อกำหนดในการอนุมัติเทียบคะแนน
          3) 
ผลการดำเนินการระยะที่ 3 การใช้งานและตรวจสอบประสิทธิภาพ ขอนำเสนอผลการประเมินและการตรวจสอบคุณภาพทั้งหมดเป็น 3 ประเด็น คือ I) ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์นักเรียน พบว่า ผลการเรียนเฉลี่ยสูงขึ้น 0.245 (ร้อยละ 9.051) จำนวนผลการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมดลดลง 102 รหัสวิชา (ร้อยละ 38.636) เมื่อพิจารณาผลการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์รายผลการเรียน จะพบว่า จำนวนผลการเรียน 0 มีจำนวนที่ลดลง 102 ผลการเรียน (ร้อยละ 75.833) จำนวนผลการเรียน มส มีจำนวนที่ลดลง 35 ผลการเรียน (ร้อยละ 79.454) จะเห็นได้ว่ามีการปรับสูงขึ้นทั้งกลุ่มช่วยเหลือ และกลุ่มส่งเสริม โดยที่ผลการเรียนเฉลี่ยกลุ่มช่วยเหลือเพิ่มสูงขึ้น 0.923 (ร้อยละ 67.619) และผลการเรียนเฉลี่ยกลุ่มส่งเสริมเพิ่มสูงขึ้น 0.121 (ร้อยละ 3.863) II) ผลการนำผลการเทียบโอนคะแนนผลการเรียนรู้ไปใช้งาน พบว่ามีจำนวนคุณครูนำผลการเทียบโอนคะแนนผลการเรียนรู้ไปในการเพิ่มคะแนนให้กับนักเรียนเป็นจำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ของจำนวนครูที่สอนทั้งหมด ซึ่งมีคะแนนที่ถูกใช้ไปเป็นจำนวน 623 คะแนน หรือมีมากกว่า 35 รหัสวิชาที่มีการใช้งานคะแนน และ III) ผลการประเมินความพึงพอใจการใช้งานระบบเทียบโอนคะแนนผลการเรียนรู้ พบว่า ความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ที่ระดับมาก (4.29) หากพิจารณารายด้าน พบว่า 1) ด้านเนื้อหาที่มีความพึงพอใจสูงสุดคือ ประโยชน์ต่อการเรียนหรือการทำงานอยู่ระดับมากที่สุด (4.52) น้อยสุดคือความสะดวกในการเรียกดูและสืบค้นข้อมูลอยู่ระดับมาก (4.24) 2) ด้านการออกแบบ ที่มีความพึงพอใจสูงสุดคือ ความเหมาะสมของรูปแบบรายงานอยู่ระดับปานกลาง (4.34) น้อยสุดคือความเร็วในการแสดงผลข้อมูลอยู่ระดับมาก (4.06) 3) ด้านการใช้บริการที่มีความพึงพอใจสูงสุดคือ ความพึงพอใจของการใช้บริการในภาพรวมอยู่ระดับมาก (4.44) น้อยสุดคือ มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลลงฐานข้อมูลอยู่ระดับมาก (3.90) และ 4) ด้านการนำไปใช้งาน ที่มีความพึงพอใจสูงสุดคือข้อมูลมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ต่อยอดอยู่ระดับมาก (4.44) และน้อยสุดคือ เป็นสื่อในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์อยู่ระดับมาก (4.12)