Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง “ เสริม สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้ คู่คุณธรรมนำความสุข ด้วยรูปแบบ B2 DONSAI MODEL”

ผู้วิจัย ปรีดาพร ปักษี

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 31 กรกฎาคม 2567

บทคัดย่อ

พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับยังได้กำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา และการจัดสรรโอกาสเข้าศึกษาต่อ ระหว่างสถานศึกษาที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับโดยให้ปิดประกาศไว้ ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานศึกษา รวมทั้งต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ปกครองของเด็กทราบก่อนเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และได้กำหนดไว้ในมาตรา 12 ว่าให้กระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาจัดการศึกษาเป็นพิเศษสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้หรือมีร่างกายพิการหรือทุพพลภาพ หรือเด็กซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้หรือไม่มีผู้ดูแล หรือด้อยโอกาสหรือเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ให้ได้รับการศึกษาภาคบังคับด้วยรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม รวมทั้งการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อบริการและความช่วยเหลืออื่นใดตามความจำเป็น เพื่อประกันโอกาสและความเสมอภาคในการได้รับการศึกษาภาคบังคับ ประกอบกับนโยบายของคณะรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2562 ได้วางแนวทางพัฒนาอย่างต่อเนื่องผ่านวิสัยทัศน์และการขับเคลื่อนการพัฒนาของผู้นำประเทศในอดีตและในวันนี้วิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาลชุดนี้คือ มุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21” โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินด้านการศึกษา คือ การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย รวมทั้งนโยบายของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนา และเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ การพัฒนาเด็กตั้งแต่ช่วงการตั้งครรภ์จนถึงปฐมวัย การพัฒนาช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น การพัฒนาและยกระดับศักยภาพวัยแรงงาน เป็นนโยบายที่สำคัญ เพื่อเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพสามารถดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีเกียรติศักดิ์ศรี
เท่าเทียมกับผู้อื่นในสังคม สามารถช่วยเหลือตนเองและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
(กระทรวงศึกษาธิการ, 2564)

ตามที่รัฐบาลมีนโยบาย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังโดยให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่มให้ได้รับสิทธิและโอกาสอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน กระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นความสำคัญในการดำเนินการตามบทบาทและภารกิจการจัดการศึกษาตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก จึงจัดทำโครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาพาน้องกลับมาเรียนโดยบูรณาการดำเนินงานร่วมกัน 12 หน่วยงาน ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) เพื่อสร้างโอกาสให้กับเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ทั้งเด็กปกติและเด็กพิการ ให้ได้รับการศึกษาที่ดี มีคุณภาพ

ผลจากการดำเนินโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน พบว่า นักเรียนที่มีความเสี่ยงในการออกกลางคันจำนวน 6 คน ได้แก่ ขาดเรียนบ่อย ไม่สนใจเรียน ติดต่อไม่ได้ติดต่อกัน 2-3 วัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้รับแก้ไขและแก้ปัญหาโดยใช้ระบบการมีส่วนร่วม ของครูประจำชั้น ครูผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน หัวหน้างานบริหารวิชาการ และผู้บริหาร

โรงเรียนบ้านดอนทราย เห็นความสำคัญในการสร้างโอกาสและความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำให้กับผู้เรียนทุกคน ให้ได้รับบริการทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และสอดคล้องตามพันธกิจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนป้องกันเด็กออกจากระบบการศึกษา
ขั้นพื้นฐาน
จึงได้นำนวัตกรรม “เสริม สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้ คู่คุณธรรมนำความสุข ด้วยรูปแบบ B2 DONSAI MODEL” ถือเป็นหนึ่งของการปฏิบัติที่มีความเป็นเลิศที่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการ PDCA เน้นวินัยเชิงบวก ผ่านการช่วยเหลือ สนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้อง