Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ด้วยกิจกรรม Active leaning การวางโครงเรื่องการเขียนเรียงความ ของดีบ้านฉัน

ผู้วิจัย นางสาวฑิฆัมพร ศักย์ฏุญภรณ์

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 3 กันยายน 2567

บทคัดย่อ

จัดการเรียนการสอนในรายวิชาภาษาไทยพื้นฐาน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชานี้ มีทักษะที่สำคัญประกอบด้วย การอ่าน การเขียน การฟัง การดูและการพูด ซึ่งทักษะการเขียนเป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญ เพราะถือเป็นทักษะที่มีบทบาทในการดำเนินชีวิต เป็นทักษะที่ช่วยพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุตามเป้าหมายการศึกษา เพราะในการศึกษาทุกวิชาต้องอาศัยการเขียนเป็นพื้นฐาน แต่จะเขียนให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องอาศัยปัจจัยและองค์ประกอบอื่นๆหนึ่งในนั้นคือ การจัดลำดับความคิด การเลือกประเด็นที่จะเขียน การเรียบเรียงถ้อยคำสำนวน ซึ่งต้องเรียนรู้ ฝึกฝนอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความชำนาญ และสามารถพัฒนาทักษะการเขียนได้เต็มศักยภาพ แต่ด้วยสภาวะการปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตมากขึ้น การสื่อสารมีความสะดวกรวดเร็ว มีแหล่งเรียนรู้มากมายให้เลือกศึกษาค้นคว้า เพราะตอบสนองความต้องการของผู้เรียนได้อย่างหลายกหลาย ทำให้ผู้เรียนไม่ค่อยให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะการเขียน รวมถึงไม่ค่อยฝึกฝนทักษะการเขียน บางส่วนก็มีการคัดลอกผลงานหรืองานเขียนของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง รวมถึงการมีใช้ศัพท์แสลงที่ปรากฏในโลกออนไลน์แทรกในงานเขียนเชิงวิชาการ ทำให้ไม่สามารถเขียนสื่อความได้ รวมถึงไม่สามารถผลิตงานเขียนที่มีคุณภาพได้ ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาภาษาไทย ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 นี้ จะเป็นการเรียนในเรื่องของ การเขียนเรียงความ ซึ่งการเขียนเรียงความก็เป็นการเขียนที่ผู้เรียนมีประสบการณ์เขียนมาบ้างในระดับชั้นประถมศึกษา แต่จากการเขียนที่นักเรียนได้ส่งงานเขียนและจากการสอบถามวิธีการลงมือเขียนพบว่า นักเรียนยังขาดทักษะการเขียน โดยเฉพาะขั้นตอนการวางโครงเรื่อง การจัดลำดับความคิด รวมทั้งการเลือกประเด็นที่จะเขียนในงานเขียนของตนเอง จึงเป็นที่มาให้ข้าพเจ้าริเริ่มที่จะฝึกฝนทักษะของผู้เรียน โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ซึ่งเป็นการฝึกให้ผู้เรียนวิเคราะห์ ตั้งคำถามจากโจทย์ปัญหาที่กำหนด ผ่านกระบวนการคิดและสะท้อนกลับ เน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนภายในกลุ่ม เน้นกิจกรรม Active leaning  และการเรียนรู้ร่วมกัน นำไปสู่การค้นคว้าหาคำตอบหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่บนพื้นฐานความรู้เดิมที่ผู้เรียนมีมาก่อน โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในคาบนี้ จึงเป็นการใช้แผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง การวางโครงเรื่องการเขียนเรียงความ ซึ่งครูผู้สอนได้กำหนดหัวเรื่องหรือชื่อเรื่องเรียงความ จำนวน 5 เรื่องให้กับนักเรียน ได้แก่ ผ้าทอ      หาดเสี้ยว ข้าวเปิบของดีบ้านฉัน  อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ประเพณีเผาเทียนเล่นไฟ และสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสุโขทัย โดยแต่ละเรื่องจะมีการกำหนด ประเด็นความคิดให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมกลุ่ม โดยการช่วยกันวิเคราะห์ประเด็นที่กำหนดและจัดเรียงลำดับความคิดให้สัมพันธ์กัน โดยแต่ละกลุ่มจะเปลี่ยนฐานตามเวลาที่กำหนด ซึ่งในระหว่างทำกิจกรรมผู้เรียนจะสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ เพราะเป็นเรื่องไม่ไกลตัว สามารถเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมและประสบการณ์ใหม่ สามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองและสามารถอธิบายผลจากการทำกิจกรรมได้ รวมทั้งมีการปรับปรุงการเรียนรู้จากข้อมูลที่ครูผู้สอนสะท้อนกลับ อันจะนำไปสู่การประยุกต์องค์ความรู้ เพื่อใช้ในการเขียนโครงเรื่องการเขียนเรียงความเรื่องอื่นๆต่อไป ซึ่งในการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ในครั้งนี้นั้น ก็มีการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกระบวนการ PLC ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนเมืองเชลียง เพื่อร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา จุดประสงค์การเรียนรู้ที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนา ทั้งด้านเนื้อหา ด้านกิจกรรมการเรียนรู้ ด้านสื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ รวมทั้งเครื่องมือการวัดและประเมินผล พร้อมทั้งรับข้อเสนอแนะจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำมาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ ให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น ก่อนจะนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนจริง เพื่อให้สามารถพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ