Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนบ้านฮ่องขาดหนองตะเคียน

ผู้วิจัย นายทวีศักดิ์ สังวัง

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 18 กันยายน 2567

บทคัดย่อ

        การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนบ้านฮ่องขาดหนองตะเคียน การดำเนินการเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1การศึกษาความต้องการจำเป็นและแนวทางการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนบ้านฮ่องขาดหนองตะเคียน ระยะที่ 2 การสร้างรูปแบบ ระยะที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบ และระยะที่ 4 การประเมินรูปแบบ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย ผู้ให้ข้อมูล 30 คน การศึกษาโรงเรียนที่มีวิธีการปฏิบัติที่ดี (Best Practice) 3 โรงเรียน จำบวน 9 คน โดยการสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษาและครูที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิในการตรวจสอบรูปแบบ 12 คน การทดลองใช้รูปแบบ 11 คน และการประเมินรูปแบบ 11 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกร้อยละของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน แบบบันทึกร้อยละของผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน และแบบประเมินความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าดัชนีความต้องการจำเป็น

            ผลการวิจัย 1) ความต้องการจำเป็น โดยรวม พบว่า ค่าดัชนีความต้องการจำเป็นสูงที่สุด คือ ด้านการพัฒนาหลักสูตร รองลงมา คือ ด้านการวางแผนงานวิชาการและด้านการวัดและประเมินผล ด้านการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา ด้านการนิเทศการศึกษา และด้านการพัฒนาและใช้สื่อเทคโนโลยีทางการศึกษา 2) องค์ประกอบของรูปแบบ มี 5 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการของรูปแบบ 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) วิธีดำเนินการของรูปแบบ ประกอบด้วย 3.1) ขอบข่ายงานวิชาการ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการวางแผนงานวิชาการ ด้านการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา ด้านการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา ด้านการวัดผลและประเมินผล ด้านการนิเทศการศึกษา และด้านการพัฒนาและใช้สื่อเทคโนโลยีทางการศึกษา และ3.2) กระบวนการบริหารงานวิชาการ 4 ขั้นตอน ตามหลักการวงจรคุณภาพ (PDCA) ได้แก่ การวางแผน (Plan: P) การปฏิบัติตามแผน (Do: D) การตรวจสอบประเมินผล (Check: C) และการปรับปรุง/นำไปใช้ (Action: A) องค์ประกอบที่ 4 การประเมินผลของรูปแบบ โดยประเมินจาก ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน และความพึงพอใจของครู และองค์ประกอบที่ 5 เงื่อนไขความสำเร็จของรูปแบบ ผลการตรวจสอบรูปแบบ ผู้ทรงคุณวุฒิมีความเห็นว่า รูปแบบมีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ อยู่ในระดับมากที่สุด 3) ผลการทดลองใช้รูปแบบ พบว่า ครูสามารถปฏิบัติตามรูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนบ้านฮ่องขาดหนองตะเคียน อยู่ในระดับมากที่สุด และ4) ผลการเปรียบเทียบร้อยละของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตามมาตรฐานการศึกษาและตามหลักสูตรสถานศึกษา ในปีการศึกษา 2566 สูงกว่าปีการศึกษา 2565 โดยกลุ่มสาระการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา มีค่าร้อยละของคะแนนสูงสุด รองลงมา คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ผลการเปรียบเทียบร้อยละของผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ข้อของโรงเรียน ตามมาตรฐานการศึกษาและตามหลักสูตรสถานศึกษา พบว่า ในปีการศึกษา 2566 สูงกว่าปีการศึกษา 2565 โดยข้อที่มีค่าร้อยละของผลการประเมินสูงสุด คือ ข้อ 7 มีจิตสาธารณะ รองลงมา คือ ข้อที่ 2 ซื่อสัตย์สุจริต ข้อที่ 4 ใฝ่เรียนรู้ ข้อ 3 มีวินัย ข้อที่ 6 มุ่งมั่นในการทำงาน ข้อที่ 5 อยู่อย่างพอเพียง ข้อที่ 7 รักความเป็นไทย และข้อที่ 1 รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และผลการประเมินความพึงพอใจของครูที่มีต่อการปฏิบัติตามรูปแบบ พบว่า ครูมีความพึงพอใจต่อการปฏิบัติตามรูปแบบอยู่ในระดับมากที่สุด

คำสำคัญ: รูปแบบการบริหาร; การบริหารงานวิชาการ; คุณภาพผู้เรียน