ชื่อเรื่อง สภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส)
ผู้วิจัย พิชญา ชูเพชร
ปีการศึกษา 2567
วันที่เผยแพร่ 4 พฤศจิกายน 2567
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยเรื่อง
สภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ในพื้นที่ 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์
เพื่อออกแบบนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
และเพื่อประเมินนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา
(Research & Development) โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)
เก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Documentary Study) การสนทนากลุ่ม (Focus Group) และการประชุมเชิงปฏิบัติการ
(Workshop) ผู้ให้ข้อมูล คือ
ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่
6 และศึกษานิเทศก์สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในพื้นที่ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์แก่นสาระ
(Thematic Analysis) และวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content
Analysis) ผลการศึกษาวิจัย พบว่า มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่ต้องเร่งพัฒนาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่
3 คือ โจทย์ปัญหา เศษส่วน จำนวนที่หายไปในแบบรูปของจำนวนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ส่วนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่
6 คือ โจทย์ปัญหา แผนภูมิรูปวงกลม สมบัติของรูป
การบวก ลบ คูณ หารระคนของเศษส่วนและจำนวนคละ และจากการศึกษาวิจัย พบว่า
1.
สภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ในพื้นที่
จากการศึกษาวิจัย พบว่า สภาพปัญหาด้านครูผู้สอน คือ ครูผู้สอนขาดสื่อการเรียนการสอน ครูผู้สอนไม่ตรงวิชาเอก ขาดเทคนิคในการสอน มีภาระงานนอกเหนือจากการสอน ไม่มีการวิเคราะห์ผลการทดสอบ ไม่สามารถอธิบายเนื้อหาให้เชื่อมโยงในสถานการณ์จริง ด้านการบริหารจัดการ พบว่า ผู้บริหารบางรายไม่ให้ความสำคัญกับการนิเทศ ติดตาม ประเมินผล ขาดการเสริมแรงทางบวก ด้านนักเรียน พบว่า นักเรียนบางรายอ่านหนังสือไม่ออก ไม่สามารถวิเคราะห์โจทย์ปัญหาได้ ขาดทักษะพื้นฐานการบวก การลบ การคูณ การหาร ไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียน ขาดเรียนบ่อย ขาดทักษะการคิด ไม่สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ ขาดแรงจูงใจในการเรียน มีเจตคติที่ไม่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ สับสนในเนื้อหาเศษส่วน ขาดทักษะในการบอกเวลา จำหน่วยวัดไม่ได้ ไม่เข้าใจสมบัติของรูปสี่เหลี่ยม ไม่สามารถหาปริมาตรของรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก เน้นท่องจำมากกว่าเข้าใจ และด้านอื่น ๆ พบว่า ผู้ปกครอง ขาดความรู้ความเข้าใจที่จะส่งเสริมการเรียนของนักเรียน ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ ปัญหาเศรษฐกิจ ครอบครัวหย่าร้าง จากสภาพปัญหาดังกล่าวมีแนวทางในการพัฒนาคือ ผู้บริหารและครูผู้สอนควรให้ความสำคัญกับนวัตกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ครูผู้สอนควรออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะทางคณิตศาสตร์ ทักษะการจัดการเรียนรู้เรื่องการแก้โจทย์ปัญหาหรือสถานการณ์เพื่อให้นักเรียนมีความรู้คงทนและใช้ได้จริง ควรมุ่งเน้นการฝึกฝนเพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะและความชำนาญบูรณาการควบคู่กับการจัดการเรียนรู้เทคนิค วิธีการ กลยุทธ์ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เพื่อให้นักเรียนมีความสามารถในการแก้ไขปัญหา การสื่อสารและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ การเชื่อมโยง การให้เหตุผล การคิดสร้างสรรค์ ผู้บริหารควรให้ความสำคัญกับการนิเทศ ติดตาม การให้คำปรึกษา การเสริมแรงทางบวก การสร้างขวัญใจให้แก่ครูผู้สอน ผู้บริหารและครูควรสร้างความเข้าใจและความตระหนักให้ ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการศึกษา เอาใจใส่ดูแล และร่วมกันส่งเสริมการเรียนของนักเรียน
2.
การออกแบบนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
ผู้วิจัยร่วมกับครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่
3 ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และศึกษานิเทศก์ ได้ดำเนินการออกแบบนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ประกอบการใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัดที่ต้องเร่งพัฒนา นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่
3 ได้แก่ โจทย์ปัญหาร้านค้าระคน โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนัก เวลามหาสนุก
การเปรียบเทียบเศษส่วน แบบรูปของจำนวน สื่อ SPOT IT ! รูปที่มีแกนสมมาตร นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่
6 ได้แก่ ปริมาตรหรรษา ร้านค้าทศนิยม การอ่านอัตราส่วน แผนภูมิรูปวงกลม สมบัติของรูปสี่เหลี่ยม และเศษส่วน
3.
การประเมินนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
จากการที่ครูผู้สอนได้นำนวัตกรรมไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน
ผู้วิจัยได้ประเมินนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ พบว่า
ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีความคิดเห็นว่า นวัตกรรมมีความสวยงามและดึงดูดความสนใจ มีการกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้ของนักเรียน
และมีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในชั้นเรียนจริง และพบว่า ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่
6 มีความคิดเห็นว่า นวัตกรรมมีการกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้ของนักเรียน
มีความสวยงามและดึงดูดความสนใจ และช่วยส่งเสริมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ในชั้นเรียน