ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบระบบนิเวศการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการใฝ่เรียนรู้และยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ผู้วิจัย นางสาวไลลา บินโส๊ะ
ปีการศึกษา 2566
วันที่เผยแพร่ 7 พฤศจิกายน 2567
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1) สำรวจความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบระบบนิเวศการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการใฝ่เรียนรู้และยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ของนักเรียนโรงเรียนบ้านฉลุง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล 2) พัฒนารูปแบบระบบนิเวศการเรียนรู้ 3) ตรวจสอบผลการใช้รูปแบบระบบนิเวศการเรียนรู้ด้วยการเปรียบเทียบ
ดังนี้ 3.1) การใฝ่เรียนรู้ 3.2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
3.3) ความพึงพอใจของนักเรียน 3.4) ความพึงพอใจของผู้ปกครอง
3.5) ความพึงพอใจของครู และ 3.6) ความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
กลุ่มตัวอย่างจำนวน 255 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นชนิดมาตรประมาณค่า
5 ระดับ ซี่งเป็นแบบสำรวจ 3 ฉบับ
แบบสังเกตพฤติกรรมใฝ่เรียนรู้ 1 ฉบับ แบบบันทึกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
1 ฉบับ และแบบสอบถามความพึงพอใจ 4 ฉบับ
วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน
เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยการทดสอบทีแบบสองกลุ่มอิสระ
เปรียบเทียบผลการสังเกตพฤติกรรมและความพึงพอใจโดยการทดสอบทีแบบไม่อิสระ และเปรียบเทียบความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาโดยใช้วิธีวินคอกซอน ผลการวิจัยพบว่า
1. ความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบระบบนิเวศการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการใฝ่เรียนรู้และยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
โดยนักเรียน ผู้ปกครอง ครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นว่ามีความต้องการจำเป็นให้พัฒนารูปแบบระบบนิเวศการเรียนรู้
อยู่ในระดับมากที่สุด
2. รูปแบบระบบนิเวศการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการใฝ่เรียนรู้และยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมี
3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) ระบบนิเวศการเรียนรู้ภายในและภายนอกห้องเรียน
2) รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และ 3) ครอบครัวและสังคม ซึ่งมีความเชื่อมโยงต่อเนื่องเป็นวงจรด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม
ได้รูปแบบการปฏิบัติงานที่สอดคล้องและส่งผลร่วมกันให้เกิดการใฝ่เรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนบ้านฉลุง
ผลการพิจารณารูปแบบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า มีความเหมาะสม ความเป็นไปได้
และประโยชน์ อยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการตรวจสอบรูปแบบระบบนิเวศการเรียนรู้ ด้วยการเปรียบเทียบพบว่า
3.1 การใฝ่เรียนรู้ อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าก่อนใช้รูปแบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ
.01
3.2 ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)
มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนใช้รูปแบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
และผลการทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (NT) มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนใช้รูปแบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3.3 นักเรียนมีความพึงพอใจสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ
.01
3.4 ผู้ปกครองมีความพึงพอใจสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ
.01
3.5 ครูมีความพึงพอใจสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ
.01
3.6 คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความพึงพอใจสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .01