ชื่อเรื่อง การพัฒนาการเรียนรู้สำนวนและทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร โดยใช้คลิปภาพยนตร์และกิจกรรมการเรียนรู้แบบ WLID
ผู้วิจัย นางสาวประภาพร วิคบำเพิง
ปีการศึกษา 2567
วันที่เผยแพร่ 19 พฤศจิกายน 2567
บทคัดย่อ
ความเป็นมาและสภาพปัญหา
ในศตวรรษที่ 21
ทักษะการดำเนินชีวิตที่สำคัญ คือ ทักษะความเป็นนานาชาติ หมายถึง เยาวชน ผู้เรียนต้องมีทักษะในการติดต่อสื่อสาร
บทบาทของภาษาจึงมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทักษะความเป็นนานาชาติในฐานะเครื่องมือติดต่อสื่อสารระหว่างกัน
ทักษะทางภาษาแม่และภาษาโลกถือเป็นส่วนหนึ่งของสาระวิชาหลักที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้เพื่อที่จะดำรงชีวิตในศตวรรษที่
21 ได้เช่นกัน (วิจารณ์ พานิช, 2555
: 65)
ภาษาอังกฤษมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน
เนื่องจากเป็นภาษาสากลที่สำคัญ ในการติดต่อสื่อสาร
การแสวงหาความรู้เพิ่มเติม การประกอบอาชีพ
การศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นและใช้เป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิสัยทัศน์ของชุมชนโลก การเรียนรู้ภาษาอังกฤษจะช่วยให้นักเรียนตระหนักถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมุมมองของสังคมโลก
นํามาซึ่งมิตรไมตรีและ ความร่วมมือกับประเทศต่าง
ๆ ช่วยพัฒนานักเรียนให้มีความเข้าใจตนเองและผู้อื่นดีขึ้น ได้เรียนรู้และเข้าใจความแตกต่างของภาษาต่างประเทศและวัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียมประเพณี การคิด สังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง มีเจตคติที่ดีต่อการใช้ภาษาต่างประเทศ
และใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสารได้อย่างมีวิจารณญาณ
รวมทั้งเข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้ง่ายและกว้างขวางขึ้นและมีวิสัยทัศน์ในการดำรงชีวิต (กระทรวง ศึกษาธิการ, 2551ก, หน้า 220)
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) ได้มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามกระบวนการเรียนรู้
และมีสมรรถนะหลัก 5 ประการ คือความสามารถในการสื่อสาร การคิด
การแก้ปัญหา การใช้ทักษะชีวิต และการใช้เทคโนโลยี การเรียนรู้ภาษาอังกฤษจะช่วยให้ผู้เรียน มีวิสัยทัศน์กว้างไกล
สามารถติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและมั่นใจ ดังนั้นผู้เรียนจำเป็นต้องเรียนภาษาอังกฤษให้เกิดทักษะทางภาษา
โดยมุ่งเน้นให้พัฒนาทักษะทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ทักษะการฟัง (Listening)
ทักษะการพูด (Speaking) ทักษะการอ่าน (Reading)
และทักษะการเขียน (Writing) ให้อยู่ในระดับที่สามารถสื่อสารได้
โดยเฉพาะทักษะด้านการพูดเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนภาษาต่างประเทศ
เป็นทักษะที่แสดงถึงความสำเร็จในการเรียนภาษา (Nunan, 1991, p. 31) ที่เป็นทักษะการสื่อสารซึ่งจำเป็นมาก ในชีวิตประจำวัน
เนื่องจากผู้พูดจะต้องใช้ทักษะในการใช้คำศัพท์ โครงสร้างไวยากรณ์ การใช้ความคิดในบริบทนั้น
ๆ และสามารถถ่ายทอดออกมาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ (ภัทราวดี ยวนชื่น, 2553) การที่จะเรียนภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นผู้เรียนต้องมีความรู้ทางด้านคำศัพท์อย่างเพียงพอและสามารถนำคำศัพท์มาใช้ได้ อย่างถูกต้อง คล่องแคล่ว ด้วยเหตุนี้ย่อมช่วยให้การเรียนภาษาได้ผลดี
(ดวงเดือน แสงชัย, 2539 : 87) รวมไปถึงทักษะและความสามารถในการใช้สำนวนภาษาอังกฤษในการพูดและสื่อสารนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ใช้ภาษาอังกฤษควรเรียนรู้และนำมาใช้อย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ Bartz (1979) ได้เสนอองค์ประกอบที่สำคัญของการพูดเพื่อการสื่อสารไว้
2 ประการ ได้แก่ 1. ความคล่องแคล่ว (Fluency) และมีความเข้าใจธรรมชาติในการพูด
และ 2. ความเข้าใจ (Comprehensibility) หรือความสามารถที่จะพูดให้ผู้อื่นเข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อออกมา
จึงกล่าวได้ว่าการพูดเป็นทักษะเบื้องต้นที่ใช้ในการสื่อสาร
และการพูดเป็นวิธีการสื่อสารหนึ่งของทักษะการสื่อสาร (Expressive Skill) ที่สามารถฝึกหัดให้เกิดประสิทธิภาพได้ Canale, & Swain (1980)
ระบุองค์ประกอบที่สำคัญของความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษไว้ 4 ประการได้แก่ 1. ความสามารถด้านไวยากรณ์ (Grammatical Competence) 2. ความสามารถด้านภาษาศาสตร์และสังคม (Sociolinguistic Competence)
3. ความสามารถในการใช้ความสัมพันธ์ของเนื้อความ (Discourse Competence)
และ 4. ความสามารถทางกลวิธีในการสื่อสาร
(Strategic Competence) กล่าวได้ว่า การเรียนรู้คำศัพท์และสำนวนถือเป็นองค์ประกอบที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของภาษาที่จะส่งผลไปถึงการพัฒนาทักษะการพูด
การฟัง การอ่าน และการเขียนภาษาอังกฤษ ยิ่งผู้เรียนได้เรียนรู้คำศัพท์และสำนวนมากและสามารถนำมาใช้ได้อย่างถูกต้อง
คล่องแคล่ว ย่อมจะบ่งบอกว่าบุคคลนั้นสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นคำศัพท์และสำนวนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องเรียนรู้และเพิ่มพูนอยู่เสมอ
(พรสวรรค์ สีป้อ, 2550 : 64)
การจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยนั้นยังไม่ประสบผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมายและ
ความคาดหวังของหลักสูตรที่ควร ดังที่ (จินตนา สุจจานันท์, 2551 : 79) กล่าวว่า
ถึงแม้ว่านักเรียนไทยส่วน ใหญ่จะเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา
สามารถท่องจำกฎเกณฑ์ ข้อยกเว้น ต่าง ๆ ในไวยากรณ์ได้เป็นอย่างดี
แต่ไม่สามารถพูดโต้ตอบกับเจ้าของภาษาให้เข้าใจได้ ปัญหาอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือผู้เรียนประสบปัญหาในการเรียนรู้คำศัพท์และสำนวน
ผู้เรียนขาดความรู้ ความเข้าใจในคำศัพท์และสำนวนภาษาอังกฤษ จดจำคำศัพท์ไม่ได้
และไม่มีความสนใจที่จะท่องจำคำศัพท์ ทำให้ผู้เรียนไม่สนใจและไม่อยากเรียน ภาษาอังกฤษ
ซึ่งปัญหาในการเรียนรู้คำศัพท์และสำนวนนี้ย่อมส่งผลถึงการสื่อสารภาษาอังกฤษไม่เข้าใจ
การพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนในประเทศไทย
มีปัจจัยที่ส่งผลให้นักเรียนไม่สามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารได้ ดังที่ รัตนชัย
เอี่ยมพิทักษ์พร (2545) พบว่าเนื้อหาใน ตำราและการสอนของครูไทยส่วนใหญ่ยังติดกับรูปแบบการสอนดั้งเดิม
ได้แก่ การสอนแบบเน้นไวยากรณ์และแปลไวยากรณ์ (Grammar Translation Method) โดยเน้นเรื่องของการเขียนที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์เป็นหลัก ผู้เรียนเรียนไปเพื่อการสอบ
เรียนจากการท่องจำ เมื่อมีโอกาสได้สื่อสารกับชาวต่างชาติจึงไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ
หรือไม่กล้าแสดงออก เพราะกลัวการดูถูก สอดคล้องกับความเห็นของ (เออร์,
1996; บราวน์, 1994) ที่กล่าวว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้เรียนเรียนภาษาที่สองไม่สำเร็จนั้น
คือผู้เรียนเกิดความกังวลในการพูดผิด เรียบเรียงประโยคไม่ถูก และจะใช้ภาษาแม่ (Mother
Language) ในขณะที่กำลังฝึกภาษาที่สองหรือภาษาเป้าหมาย (Target
language) ในชั้นเรียน และ (กุลชนก ทิพฤาชา, 2550) ที่กล่าวว่าอุปสรรคของการพัฒนาความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษที่สำคัญอย่างหนึ่ง
คือ นักเรียนไทยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ทำให้แทบจะไม่มีโอกาสพูดภาษาอังกฤษ
นอกเหนือจากการเรียนภาษาอังกฤษในห้องเรียน
ซึ่งผู้เรียนควรได้รับการฝึกฝนทักษะการพูดอย่างสม่ำเสมอ การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาในสถานการณ์ที่คล้ายกับในชีวิตจริง
จากการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ การทำงานเป็นกลุ่ม การทำแบบฝึกทักษะ ขณะเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน และผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีความสามารถและผลการทดสอบด้านการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ จะสามารถสังเกตได้ว่า นักเรียนขาดความรู้เรื่องสำนวนภาษาอังกฤษ ขาดทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ไม่กล้าแสดงออก ใช้การพูดแบบท่องจำมากกว่าการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร มีความกังวลในการใช้ภาษาให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ที่เรียนมา ขาดความมั่นใจในการใช้ภาษาเนื่องจากไม่มีประสบการณ์ในการใช้ภาษาในสถานการณ์จริงหรือไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมในการใช้ภาษา และขาดการฝึกฝนการใช้ภาษาที่ถูกต้อง นักเรียนจึงไม่สามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารได้อย่างเป็นธรรมชาติ ถูกต้อง เหมาะสมกับโอกาสและสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้นักเรียนไม่ประสบผลสำเร็จด้านทักษะการพูด และไม่เป็นไปตามที่หลักสูตรกำหนด
วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
2.1 วัตถุประสงค์
2.1.1 เพื่อพัฒนาการเรียนรู้สำนวนภาษาอังกฤษ ตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร
โดยใช้คลิปภาพยนตร์และกิจกรรมการเรียนรู้แบบ WLID ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่
4 โรงเรียนควนเกยสุทธิวิทยา
2.1.2 เพื่อพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร โดยใช้คลิปภาพยนตร์และกิจกรรมการเรียนรู้แบบ WLID ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนควนเกยสุทธิวิทยา
ผลการดำเนินงาน
คะแนนการทดสอบก่อนเรียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 8.19 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.78 ส่วนการทดสอบหลังเรียน หลังการพัฒนาการเรียนรู้สำนวนและทักษะการพูด ตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร โดยใช้คลิปภาพยนตร์และกิจกรรมการเรียนรู้แบบ WLID มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 16.13 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.54 เมื่อนำคะแนนเปรียบเทียบกัน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ด้านการเรียนรู้สำนวนภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05
คะแนนการทดสอบทักษะการพูดภาษาอังกฤษก่อนเรียน
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 8.03 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
1.76 ส่วนการทดสอบการพูดภาษาอังกฤษหลังเรียน หลังการพัฒนาการเรียนรู้สำนวนและทักษะการพูด
ตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร โดยใช้คลิปภาพยนตร์และกิจกรรมการเรียนรู้แบบ WLID
มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 14.10 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.87 เมื่อนำคะแนนเปรียบเทียบกัน
พบว่า ผลการทดสอบทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05