Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การส่งเสริมทักษะทางด้านการพูดของเด็กปฐมวัยโดยใช้หนังสือนิทาน ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3

ผู้วิจัย นางสาวณิพาพัชร์ หมั่นทรัพย์

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 20 พฤศจิกายน 2567

บทคัดย่อ

ที่มาและความสำคัญของปัญหา         

          การจัดการศึกษาระดับปฐมวัยมีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางรากฐานของชีวิตเพราะการเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพในวันข้างหน้า จะต้องได้รับการปูพื้นฐานที่ดีมาตั้งแต่ปฐมวัยช่วง 6 ปีแรก ของชีวิตเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการในทุกด้านรวดเร็วมาก โดยเฉพาะสติปัญญา ( นิตยา คชภักดี. 2530 : 16 ) ซึ่งสอดคล้องกับ เพียเจต์ ( Piaget ) ได้กล่าวว่า พัฒนาการทางด้านสติปัญญาที่เกิดขึ้นในวัยก่อนปฐมวัยนี้ จะเป็นรากฐานให้แก่พัฒนาการทางด้านปัญญาในระดับต่อๆ ไปและในการพัฒนาประชากรประเทศควรเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย เพราะเด็กพัฒนาทั้งทางร่างกาย สติปัญญาสังคม บุคลิกภาพอย่างรวดเร็ว ประสบการณ์ที่เด็กได้รับในช่วงแรกมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการพัฒนาขั้นต่อ ๆ ไป (ดวงเดือน ศาสตรภัท.2522:10 – 18 )

          ภาษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์ การอยู่ร่วมกันในสังคมจำเป็นต้องใช้ภาษาในการสื่อสารความหมายซึ่งกันและกันเพื่อแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก ทัศนคติตลอดจนประสบการณ์ให้ผู้อื่นเข้าใจซึ่งจะทำให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างราบรื่น ภาษาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องอาศัยทักษะการฟัง

          การพูดซึ่งเป็นพื้นฐานของการอ่านและการเขียน เพื่อติดต่อทำความเข้าใจกับผู้อื่นเข้าใจตนได้ (จินตนา สุทธจินดา. 2522:2)  การพูดและการสนทนาจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก ทั้งในชีวิตประจำวัน และชีวิตการทำงาน การพูดเป็นเครื่องมือสำคัญของการติดต่อสื่อสาร ที่จะนำไปความสำเร็จในชีวิต ทั้งนี้เพราะมนุษย์ต้องใช้ภาษาอยู่เสมอและใช้คำพูดในการสื่อถึงบุคคล ( Persoral media ) หรือเป็นวิธีทางหนึ่งในการถ่ายทอดชักนำเอาความรู้สึกนึกคิดของตนมาตีแผ่ แสดงให้ผู้อื่นได้ทราบละเข้าใจ เมื่อเป็นเช่นนี้การพูดจึงเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น (วิรัช อภิรัตนกุล .2524:1– 3 ) ดังนั้น การพูดการสนทนาที่ดีถูกต้องเหมาะสมจึงเป็นการสร้างบุคลิกภาพที่ดีสำหรับบุคคลในอนาคต

          การส่งเสริมการพูดให้กับเด็กปฐมวัยมีหลายวิธี เช่น การร้องเพลง การเล่นบทบาทสมมติ ฯลฯ แต่ในที่นี้ผู้วิจัยสนใจที่จะใช้หนังสือนิทานในการส่งเสริมทักษะการพูดของเด็กปฐมวัย เพราะธรรมชาติของเด็กปฐมวัยจะชอบฟังนิทานที่มีรูปภาพประกอบจะช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากรู้อยากเห็น โดยใช้ภาษาพูดสนทนาสื่อสารกับครูเป็นการกระตุ้นให้เด็กอยากพูดทุกวันจะทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาดีขึ้น

          1. ความมุ่งหมายของการวิจัย

          เพื่อส่งเสริมทักษะทางด้านการพูดของเด็กปฐมวัยโดยใช้หนังสือนิทาน

          2. ความสำคัญของการศึกษาค้นคว้า

          ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้มุ่งให้ครูและผู้ปกครอง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมทักษะทางด้านการพูดของเด็กปฐมวัย

          3. ขอบเขตของการศึกษา

ในการศึกษาครั้งนี้มีขอบเขตดังนี้

          3.1 ประชากร

             ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักเรียน เด็กชาย และเด็กหญิง อายุ 5 – 6 ปี ชั้นอนุบาล 3

 ภาคเรียนที่ 2 โรงเรียนบ้านบึงประดู่ อำเภอตะพานหิน สังกัดสำนักงานการศึกษาประถมศึกษาพิจิตรเขต 2

 จำนวน 3 คน

           3.2 ระยะเวลาในการศึกษา

             ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ทำการทดลองในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567  ทำการทดลองเป็นเวลา 6 ครั้ง

          3.3 ตัวแปรที่ศึกษา

             ตัวแปรอิสระ ได้แก่ หนังสือนิทาน

             ตัวแปรตาม ได้แก่ ทักษะการพูด