Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การนิเทศการศึกษาด้วยวงรอบการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning : กรณีศึกษาโรงเรียนหนองตูมหนองงูเหลือม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 1

ผู้วิจัย นางสาวกชพร จันทนามศรี

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 25 พฤศจิกายน 2567

บทคัดย่อ

              การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการนิเทศการศึกษาด้วยวงรอบการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามแนว Active Learning และ 2) ศึกษาผลการนิเทศการศึกษาด้วยวงรอบการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามแนว Active Learning โดยใช้วิจัยเชิงปฏิบัติการ 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) การวางแผน (Planning) 2) การปฏิบัติ (Action) 3) การสังเกต (Observation) และ 4) การสะท้อนผล (Reflection) นำมาบูรณาการกับ 3 ขั้นของวงจรการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) ที่มีลักษณะเป็นวงรอบ 4 วงรอบ ได้แก่ ขั้นที่ 1 ร่วมกันออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ (Plan) ขั้นที่ 2 ร่วมกันสังเกตชั้นเรียน (Do) และขั้นที่ 3 ร่วมกันสะท้อนผลบทเรียน (See) ผ่านกระบวนการนิเทศการศึกษา 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1. การศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการ 2. การวางแผนการนิเทศ 3. การสร้างสื่อและเครื่องมือนิเทศ 4. การปฏิบัติการนิเทศ 5. การประเมินผลและรายงานผล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ร่วมศึกษา และกลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้มาทั้งการสุ่มแบบง่าย และการสุ่มแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่  แบบสังเกต (observation form) แบบสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) แบบสนทนากลุ่ม (focus group interview) บันทึกอนุทิน (journal) แบบตรวจสอบเอกสาร (archival documents) แบบบันทึกภาคสนาม (field notes) แบบประเมินความคิดสร้างสรรค์ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบบันทึกการศึกษาชั้นเรียน  (lesson study) แบบบันทึกกิจกรรมชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าทดสอบค่า t (t-test) และการวิเคราะห์เนื้อหา

                                          ผลการศึกษาพบว่า

           1. ผลการศึกษาองค์ประกอบการนิเทศการศึกษาด้วยวงจรการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามแนว Active Learning

                   จากการศึกษาเอกสารและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง พบว่า กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action  Research) ที่ได้จากการสังเคราะห์แนวคิดของ Kemmis & Kemmis & McTaggart (1988), Stringer (1999), Coghlan & Brannick (2001), องอาจ นัยพัฒน์ (2548) และวีระยุทธ์ ชาตะกาญจน์ (2558) มี 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) การวางแผน (Planning) 2) การปฏิบัติ (Action) 3) การสังเกต (Observation) และ 4) การสะท้อนผล (Reflection) นำมาบูรณาการกับ 3 ขั้นของวงจรการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) ที่มีลักษณะเป็นวงรอบ 4 วงรอบ ได้แก่ ขั้นที่ 1 ร่วมกันออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ (Plan) ขั้นที่ 2 ร่วมกันสังเกตชั้นเรียน (Do) และขั้นที่ 3 ร่วมกันสะท้อนผลบทเรียน (See) ผ่านกระบวนการนิเทศการศึกษา 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1. การศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการ 2. การวางแผนการนิเทศ 3. การสร้างสื่อและเครื่องมือนิเทศ 4. การปฏิบัติการนิเทศ 5. การประเมินผลและรายงานผล

           2. ผลการนิเทศการศึกษาด้วยวงจรการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามแนว Active  Learning

           ด้านการศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการ พบว่า ครูยังคงสอนแบบเดิม ๆ ไม่พัฒนาให้เป็นไปตามแนวคิด Active Learning ปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนา คือ การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning ด้วยวิธีการสอนแบบเปิด Open Approach วิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทางเลือกในการแก้ปัญหาหรือความต้องการพัฒนา และแผนการนิเทศการศึกษาด้วยวงจรการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning ของครู

           ด้านการวางแผนการนิเทศ  พบว่า จัดตั้งทีมศึกษาชั้นเรียน และจัดแผนการนิเทศการศึกษาด้วยวงจรการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning ของครู

           ด้านการสร้างสื่อและเครื่องมือนิเทศ พบว่า มีสื่อและเครื่องมือนิเทศ จำนวน 10 รายการ ได้ดำเนินการสร้างและหาประสิทธิภาพตามที่กำหนด

           ด้านผลการปฏิบัติการนิเทศ พบว่า สามารถปฏิบัติการนิเทศตามปฏิทินที่กำหนด โดยใช้วงจรการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) 3 ขั้นตอน จำนวน 4 วงรอบ

           ด้านการประเมินผลและรายงานผล พบว่า 1) นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์และมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ครูผู้สอนมีทักษะการออกแบบการจัดการเรียนรู้ มีทักษะในการจัดการเรียนรู้ มีพฤติกรรมการสอนที่พึงประสงค์ มีบทบาทของครูผู้สอนในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) รวมถึงครูผู้สอนมีส่วนร่วมในชุมชมการเรียนรู้ 3) ผู้บริหารมีทักษะในการบริหารงานวิชาการ มีการสร้างระบบความอำนวยความสะดวกให้กับครูผู้สอนในการจัดการเรียนรู้ ปฏิบัติตนเป็นผู้นำทางวิชาการ บริหารโดยใช้งานวิชาการเป็นฐาน และ 4) สถานศึกษา มีวัฒนธรรมการเรียนรู้ มีระบบการทำงานทางวิชาการที่เป็นระบบใช้การนิเทศภายนอกขับเคลื่อนการนิเทศภายใน มีทีมนิเทศภายในที่ชัดเจน เมือดำเนินการแล้วเสร็จ ผู้ศึกษาได้จัดทำรายงานผลและเผยแพร่ผลงานทางวิชาการในรูปแบบเอกสารและในรูปแบบออนไลน์