Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การพัฒนาทักษะการช่วยเหลือตนเองด้านการแต่งกาย โดยใช้วิธีการสอน แบบลูกโซ่ย้อนกลับร่วมกับสื่อสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านการมอง ของนักเรียนออทิสติก ห้องเรียนสะพานสายรุ้ง 1 ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดลำปาง

ผู้วิจัย นางสาวสุวิมล ใจมา

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 9 เมษายน 2568

บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง           การพัฒนาทักษะการช่วยเหลือตนเองด้านการแต่งกาย โดยใช้วิธีการสอน

แบบลูกโซ่ย้อนกลับร่วมกับสื่อสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านการมอง
ของนักเรียนออทิสติก ห้องเรียนสะพานสายรุ้ง 1
ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดลำปาง

ชื่อผู้วิจัย          นางสาวสุวิมล ใจมา ตำแหน่ง ครูชำนาญการ

ปีการศึกษา      2567
สถานศึกษา     
ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดลำปาง

 

บทคัดย่อ

 

          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาทักษะการช่วยเหลือตนเอง ด้านการแต่งกายของนักเรียนออทิสติก ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการซึ่งมีขั้นตอนในการปฏิบัติ 4 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นวางแผน
ขั้นปฏิบัติการ ขั้นสังเกต และขั้นสะท้อนผล
 โดยคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจงเป็นนักเรียนออทิสติก อายุ 3-6 ปี จำนวน 5 คน ที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นบุคคลออทิสติก อยู่ในระดับชั้นเตรียมความพร้อมในห้องเรียนสะพานสายรุ้ง 1 ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดลำปาง
ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 ใช้เวลาในการทดลองทั้งสิ้น 4 สัปดาห์
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการจัดประสบการณ์ 2) แบบประเมินทักษะการช่วยเหลือตนเองด้านการแต่งกายในการใส่รองเท้าของนักเรียนออทิสติก 3) นวัตกรรมสื่อสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านการมอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ

        ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า

นักเรียนออทิสติกมีพัฒนาการด้านทักษะการช่วยเหลือตนเองในการแต่งกายเพิ่มขึ้น หลังจากการสอนโดยใช้วิธีการสอนแบบลูกโซ่ย้อนกลับร่วมกับสื่อสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านการมอง เมื่อเทียบกับก่อนการสอนด้วยวิธีดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการสอนแบบลูกโซ่ย้อนกลับช่วยให้เด็กออทิสติกสามารถเรียนรู้กระบวนการแต่งกายได้อย่างมีลำดับและเข้าใจง่ายขึ้น โดยเริ่มฝึกจากขั้นตอนสุดท้ายก่อน แล้วค่อยย้อนกลับไปยังขั้นตอนก่อนหน้า ทำให้เด็กสามารถรับรู้ถึงความสำเร็จของตนเองในแต่ละขั้นตอน ซึ่งช่วยสร้างแรงจูงใจและเสริมพฤติกรรมเชิงบวก นอกจากนี้ การใช้สื่อสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านการมอง เช่น ภาพลำดับขั้นตอนและวิดีโอสาธิต ช่วยให้เด็กสามารถเข้าใจและจดจำลำดับขั้นตอนการแต่งกายได้ดีขึ้น

 

คำสำคัญ    การสอนแบบลูกโซ่ย้อนกลับ สื่อสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านการมอง
               การพัฒนาทักษะการช่วยเหลือตนเอง