ชื่อเรื่อง การพัฒนาทักษะทางภาษา ด้านการอ่านและการเขียน โดยใช้รูปแบบ “อ จ ร ส” สำหรับเด็กปฐมวัย
ผู้วิจัย นางสาวณัฐรุจา ท่าโทม
ปีการศึกษา 2567
วันที่เผยแพร่ 29 เมษายน 2568
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา ด้านการอ่านและการเขียน ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โดยใช้นวัตกรรม รูปแบบ “อ จ ร ส” สำหรับเด็กปฐมวัย และเพื่อเปรียบเทียบทักษะทางภาษา ด้านการอ่านและการเขียน ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ก่อนและหลังการใช้นวัตกรรม รูปแบบ “อ จ ร ส” สำหรับเด็กปฐมวัย ประชากร คือ เด็กอนุบาล อายุ 5 - 6 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปี การศึกษา 2567 โรงเรียนวัดบางเป้ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 1 จำนวน 18 คน และกำหนดให้สมาชิกในห้องเรียนดังกล่าวทั้งหมดเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ใช้เวลาในการทดลองจัดประสบการณ์ ครั้งละ 50 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แผนการจัดประสบการณ์ โดยบูรณาการขั้นตอน อ จ ร ส ทั้ง 4 ขั้นตอน ในกิจกรรมเสริมประสบการณ์และกิจกรรมสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับหน่วยการจัดประสบการณ์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 จำนวน 24 แผน และแบบประเมินการพัฒนาทักษะทางภาษา ด้านการอ่านและการเขียน โดยใช้รูปแบบ “อ จ ร ส” สำหรับเด็กปฐมวัย โดยใช้มาตรประมาณค่าแบบบรรยาย 3 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ
ผลการวิจัย พบว่า ก่อนการทดลอง เด็กปฐมวัยมีค่าเฉลี่ยทักษะทางภาษา ด้านการอ่านและการเขียน โดยใช้รูปแบบ “อ จ ร ส” สำหรับเด็กปฐมวัย โดยรวม เท่ากับ 27.97 คิดเป็นร้อยละ 51.80 หลังการทดลองเด็กปฐมวัยมีค่าเฉลี่ยทักษะทางภาษา ด้านการอ่านและการเขียน โดยใช้รูปแบบ “อ จ ร ส” สำหรับเด็กปฐมวัยโดยรวม เท่ากับ 48.16 คิดเป็นร้อยละ 89.19 ซึ่งหมายความว่า เด็กปฐมวัยมีทักษะทางภาษา ด้านการอ่านและการเขียน โดยใช้รูปแบบ “อ จ ร ส” สำหรับเด็กปฐมวัย สูงขึิ้น คิดเป็นร้อยละ 37.39 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การใช้กิจกรรมการพัฒนาทักษะทางภาษา ด้านการอ่านและการเขียน โดยใช้รูปแบบ “อ จ ร ส” ส่งผลให้เด็กปฐมวัยเกิดการพัฒนาและเรียนรู้ทักษะทางภาษา ด้านการอ่านและการเขียน ได้เป็นอย่างดี