Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง แผนการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ของครูผู้สอนรายวิชานาฏศิลป์ เพื่อส่งเสริมทักษะการปฏิบัตินาฏศิลป์ของผู้เรียน ด้วยกระบวนการ KWANG MODEL To NATSIN สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต

ผู้วิจัย ว่าที่ ร.ต.หญิงจุฑามณี ไชยสงคราม

ปีการศึกษา 2568

วันที่เผยแพร่ 2 มิถุนายน 2568

บทคัดย่อ

แผนการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)
ของครูผู้สอนรายวิชานาฏศิลป์ เพื่อส่งเสริมทักษะการปฏิบัตินาฏศิลป์ของผู้เรียน
ด้วยกระบวนการ
KWANG MODEL To NATSIN 
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต

                   การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ที่รัฐต้องจัดให้เพื่อพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย ให้มีความเจริญงอกงามทุกด้าน เพื่อเป็นต้นทุนทางปัญญาที่สำคัญในการพัฒนาทักษะ คุณลักษณะ และสมรรถนะในการประกอบสัมมาชีพ และการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเป็นสุข อันจะนำไปสู่เสถียรภาพ และความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติที่ต้องพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียมนานาประเทศในเวทีโลกท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกศตวรรษที่ 21 คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดนโยบายและจุดเน้น ประจำปีงบประมาณ พ..2568-2569 ส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้หลากหลายด้วยเทคโนโลยีทันสมัย จัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้เรียนตามพหุปัญญา ส่งเสริมความเป็นเลิศของผู้มีความสามารถพิเศษ และ Soft Power อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความรู้และสมรรถนะด้านวิชาการ ด้านทักษะการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน ตามความถนัด ความสนใจ ด้วยการเรียนรู้อย่างมีความสุข โดยให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน

          วัฒนธรรม หมายถึง ความเจริญงอกงาม ซึ่งเป็นผลจากระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสังคม และมนุษย์กับธรรมชาติ จำแนกออกเป็น 3 ด้าน คือ จิตใจ สังคม และวัตถุ มีการสั่งสมและสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่ง จนกลายเป็นแบบแผนที่สามารถ เรียนรู้และก่อให้เกิดผลิตกรรมและผลิตผล ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม อันควรค่าแก่การวิจัย อนุรักษ์ ฟื้นฟู ถ่ายทอด เสริมสร้างเอตทัคคะ และแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างดุลยภาพแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สังคม และธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอย่างมีสุข สันติสุข และอิสรภาพ อันเป็นพื้นฐานแห่งอารยธรรมของมนุษยชาติ (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2535) นาฏศิลป์ไทย ก็จัดว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ที่แสดงออกถึงความเจริญงอกงาม และแสดงออกถึงความมีวัฒนธรรมของคนในชาติ

          นาฏศิลป์ไทย นอกจากจะมีคุณค่าในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมีประโยชน์สำหรับผู้เรียนมีส่วนช่วยพัฒนามนุษย์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์และสังคม เพราะเป็นวิชาที่เน้นทักษะภาคปฏิบัติ กิจกรรมนาฏศิลป์เป็นการใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายในการเคลื่อนไหวท่าทางต่าง ๆ จึงส่งผลให้ผู้ที่ได้ฝึกหัดเป็นผู้มีสุขภาพสมบูรณ์ จิตใจร่าเริงแจ่มใสและมีบุคลิกภาพที่ดี ตลอดจนพัฒนาให้ผู้ที่ได้ศึกษาเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ค้นพบศักยภาพในตนเอง มีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัยและสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข จึงกล่าวได้ว่า ศิลปะการแสดงดนตรีและการฟ้อนรำ นอกจากแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นแล้ว ยังถือเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติอีกด้วย

          สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต มีโรงเรียนในสังกัด ทั้งหมด 49 โรงเรียน โดยมีโรงเรียนขยายโอกาส จำนวน 12 โรงเรียน ซึ่งปัญหาที่พบ คือ มีหลายโรงเรียนในสังกัด ไม่มีครูที่จบตรงสาขาวิชาเอกนาฏศิลป์ จึงเป็นการยากที่จะสอนทักษะการปฏิบัตินาฏศิลป์ได้อย่างสวยงาม ถูกต้องตามมาตรฐานของนาฏศิลป์ไทย อีกทั้ง ครูที่จบตรงสาขาวิชาเอกนาฏศิลป์ก็ควรได้รับการพัฒนาทักษะการปฏิบัติอยู่เสมอ เพื่อการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งสู่กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างถูกต้องและทันสมัย อีกทั้งต่อยอดสู่ความเลิศได้ โดยสามารถสร้างสื่อนวัตกรรมที่สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime)

          ดังนั้น ข้าพเจ้าได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนิเทศการศึกษาในรายวิชานาฏศิลป์ ที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดทำแผนนิเทศการศึกษาชุดนี้ขึ้น เพื่อการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ของครูผู้สอนรายวิชานาฏศิลป์ เพื่อส่งเสริมทักษะการปฏิบัติของผู้เรียน สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต เพื่อเป็นแนวทางในดำเนินกิจกรรมในการสร้างสื่อและนวัตกรรมที่ทันสมัย ครูมีนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ โดยจัดการเรียนรู้ในรูปแบบเชิงรุก (Active Learning) ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนลงมือจริงในการปฏิบัติกิจกรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการร่วมมือกันทำงานเป็นทีม เพื่อค้นหาองค์ความรู้ด้วยผู้เรียนเอง ตามพหุปัญญาสู่ความเป็นเลิศ ปลูกฝังคุณธรรมความรักชาติสู่ผู้เรียน สอดคล้องกับแผน นโยบาย จุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจุดเน้นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต SMART PK to 4s องค์กรนวัตกรรม สร้างคนดี มีคุณภาพ และมีความสุข โดยข้าพเจ้าได้คิดค้นปรับเปลี่ยนกระบวนการนิเทศเกิดเป็นนวัตกรรม KWANG MODEL To NATSIN มาใช้ในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยใช้เทคนิคการนิเทศแบบชี้แนะและการเป็นพี่เลี้ยง (Coaching and Mentoring) และแบบกัลยาณมิตร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวัง

https://drive.google.com/file/d/1lemgUf77uX2RXMYgEMyrHJs-ihFrFKnZ/view?usp=sharing