Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การศึกษาผลการเรียนรู้ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ รูปแบบ 5E เรื่อง สารอาหารและการย่อยอาหารของนักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอวาปีปทุม

ผู้วิจัย นางสาวศิรประภา หอมขจร

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 10 มิถุนายน 2568

บทคัดย่อ

                งานวิจัยในครั้งนี้ เป็นงานวิจัยในชั้นเรียนมีวัตถุประสงค์ 1)เพื่อศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ รูปแบบ 5E เรื่องสารอาหารและการย่อยอาหารที่ส่งเสริมผลการเรียนรู้ของนักศึกษาศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอวาปีปทุม 2)เพื่อศึกษาผลการเรียนรู้หลังการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ รูปแบบ 5E ของนักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอวาปีปทุม 3)เพื่อเปรียบเทียบผลการเรียนรู้หลังการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ รูปแบบ 5E ของนักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอวาปีปทุมกับเกณฑ์มาตรฐาน กลุ่มศึกษาคือ นักศึกษาศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอวาปีปทุม จำนวน 6 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ รูปแบบ 5E เรื่องสารอาหารและการย่อยอาหาร 2) แบบบันทึกหลังสอน 3) ใบกิจกรรม แบบสังเกต แบบประเมินทักษะกระบวนการ และแบบการประเมินตนเอง เก็บรวบรวมข้อมูล ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 ในการดำเนินการวิจัยตามวงจร PAOR (Plan-Act-Observe-Reflect) สำหรับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) เรื่องสารอาหารและการย่อยอาหาร การวิเคราะห์ข้อมูลจากวงจร PAOR ที่ดำเนินการ 2 รอบ ตามวัตถุประสงค์การวิจัยศึกษา แนวปฏิบัติที่ดีในการสอน และ ผลการเรียนรู้ 3 ด้าน (ความรู้ ทักษะกระบวนการ และเจตคติ)  ผลการวิจัยพบว่านักศึกษามีผลการเรียนรู้ เท่ากับหรือสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 70 และเมื่อเปรียบเทียบในวงจรที่ 1 และวงจรที่ 2 จะเห็นได้ว่าวงจรที่ 2 นักศึกษามีการพัฒนาผลการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นจากวงจรที่ 1 เนื่องการในวงจรที่ 2 การปฏิบัติที่ดีของครู คือ ครูออกแบบกิจกรรมที่เป็นตัวแทนที่ดี ทำให้นักศึกษาเห็นภาพการย่อยอาหารได้ชัดเจน และสามารถนำความรู้ที่เป็นนามธรรมมาทำให้เป็นรูปธรรม ซึ่งนักศึกษาก็ทำกิจกรรมด้วยความตั้งใจ สนุกสนาน มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม ได้ลงมือปฏิบัติจริง  การให้คำแนะนำในขณะที่ปฏิบัติกิจกรรม  ครูเริ่มตั้งคำถามจากสิ่งที่นักศึกษาพบเจอ หรือจากประสบการณ์ที่นักศึกษาเคยมีมาแล้วเชื่อมโยงไปยังคำถามในเชิงวิทยาศาสตร์ เป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ และช่วยให้นักศึกษามีส่วนร่วมในชั้นเรียน มีปฏิสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้นระหว่างครูและนักศึกษา