Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ร่วมกับแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเพื่อพัฒนาทักษะการฟังและพูด สำหรับเด็กปฐมวัย

ผู้วิจัย นางขวัญธิดา มีพร้อม

ปีการศึกษา 2564

วันที่เผยแพร่ 8 มิถุนายน 2567

บทคัดย่อ

ชื่อวิจัย  :  การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองร่วมกับแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเพื่อพัฒนาทักษะการฟังและพูด สำหรับเด็กปฐมวัย
ผู้วิจัย  :  นางขวัญธิดา มีพร้อม ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ  โรงเรียนบ้านประทุนอายอง
ปีที่วิจัย  :  2564-2565

บทคัดย่อ
         การวิจัยครั้งนี้ ใช้รูปแบบการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยมีความมุ่งหมาย ดังนี้1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานของการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองร่วมกับแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเพื่อพัฒนาทักษะการฟังและพูด 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ร่วมกับแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร เพื่อพัฒนาทักษะการฟังและพูด 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ร่วมกับแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเพื่อพัฒนาทักษะการฟังและพูด และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ร่วมกับ แนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเพื่อพัฒนาทักษะการฟังและพูด ผู้วิจัยกำหนดขั้นตอนการวิจัย มี4 ขั้นตอน ดังนี้  ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและประเมินความต้องการจำเป็น(Analysis) โดยการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและการสัมภาษณ์  ขั้นตอนที่ 2 ออกแบบและพัฒนารูปแบบ (Design and Development) โดยการยกร่างและตรวจสอบรูปแบบจากผู้ทรงคุณวุฒิ  ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบ (Implementation) กับกลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านประทุนอายอง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 จำนวนเด็ก 12 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ใช้ประชากรทั้งหมดในการทดลอง และขั้นตอนที่ 4 การประเมินผลของรูปแบบ (Evaluation) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบสอบถาม 2) แบบสัมภาษณ์ 2) แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม (Focus group) 4) แผนการจัดประสบการณ์ที่พัฒนาขึ้นตามรูปแบบ 5) แบบประเมินทักษะการฟังและพูด 6) แบบประเมินรูปแบบการจัดประสบการณ์ตามมาตรฐาน 4 ด้าน และ 7) แบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา(Content Analysis) การคำนวณหาค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบ ความแตกต่างของคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้สถิติที (t-test)

ผลการวิจัยพบว่า
     1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานตามความคิดเห็นของครูผู้สอนระดับปฐมวัย พบว่า มีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีการปฏิบัติในระดับมากที่สุด คือ การจัดกิจกรรมแบบบูรณาการ ในกิจกรรม 3 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมเสริมเสริมประสบการณ์ และกิจกรรมสร้างสรรค์ได้อย่างสมบูรณ์รองลงมาคือ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความสามารถเข้าใจความหมายของคำ ปฏิบัติตามคำสั่ง การพูดจากภาพที่เห็นได้ถูกต้อง และจัดกิจกรรมกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความมุ่งมั่นเพื่อหาความกระจ่าง ความชัดเจน และความถูกต้อง 
     2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองร่วมกับแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเพื่อพัฒนาทักษะการฟังและพูด สำหรับเด็กปฐมวัย พบว่า รูปแบบการจัดประสบการณ์ที่พัฒนาขึ้น มีองค์ประกอบหลัก 4 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) ขั้นตอนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และ 4) การวัดและประเมินผล มีขั้นตอนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 ขั้นเสนอปัญหา ขั้นที่ 2 ขั้นสำรวจความคิด ขั้นที่ 3 ขั้นใช้ภาษา และขั้นที่ 4 ขั้นประมวลผลการเรียนรู้ และผลการประเมินรูปแบบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า รูปแบบมีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในระดับมาก
     3. ผลการทดลองใช้รูปแบบ พบว่า เด็กปฐมวัยที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองร่วมกับแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร มีทักษะการฟังและพูดหลังทดลองสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
     4. ผลการประเมินรูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองร่วมกับแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเพื่อพัฒนาทักษะการฟังและพูด สำหรับเด็กปฐมวัย พบว่า  
         4.1 ครูผู้สอนระดับปฐมวัยมีความเห็นว่ารูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิด การสร้างความรู้ด้วยตนเองร่วมกับแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเพื่อพัฒนาทักษะการฟังและพูด มีมาตรฐานความเป็นประโยชน์ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความถูกต้องของรูปแบบ ในระดับมากที่สุด 
         4.2 ครูผู้สอนระดับปฐมวัยมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ร่วมกับแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเพื่อพัฒนาทักษะการฟังและพูด สำหรับเด็กปฐมวัย ในระดับพึงพอใจมากที่สุด