Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง ผลของการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวต่อความสามารถในการนั่งทรงตัวของเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดปัตตานี

ผู้วิจัย นายอัฎฮา สุมาลี

ปีการศึกษา 2566

วันที่เผยแพร่ 10 กรกฎาคม 2567

บทคัดย่อ

การทรงตัวในท่านั่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวัน สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว ปัญหาหลักที่ทำให้เด็กไม่สามารถทรงตัวในท่านั่งได้มักเกิดจากกล้ามเนื้อลำตัวที่ไม่แข็งแรง การฝึกทักษะการทรงตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความสามารถในการนั่งทรงตัวของเด็กก่อนและหลังการใช้โปรแกรมการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลำตัว กลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว อายุ 6-7 ปี จำนวน 2 คน ซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดปัตตานี ได้มาด้วยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยโปรแกรมการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลำตัว และแบบประเมิน Modified Gross Motor Function Measurement (GMFM)-66 ฉบับภาษาไทย  โดยทำการประเมินก่อน และหลังสิ้นสุดการออกกำลังกายเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ผลการวิจัยพบว่า เด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว ที่ได้รับโปรแกรมการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลำตัว มีความสามารถในการทรงตัวขณะนั่งทำกิจกรรมเพิ่มขึ้น