Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารวิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามศักยภาพ ของโรงเรียนสุขุมนวพันธ์อุปถัมภ์

ผู้วิจัย นายชย ไสยเดช

ปีการศึกษา 2566

วันที่เผยแพร่ 13 สิงหาคม 2567

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ        

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์ และความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบ  4) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบ เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี  ได้ศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบ การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา และการบริหารงานวิชาการเป็นกรอบการวิจัย กลุ่มตัวอย่างขั้นตอนที่ 1 ได้แก่ 1) ผู้เชี่ยวชาญ  5 คน และ 2) ผู้เกี่ยวข้องในโรงเรียนสุขุมนวพันธ์อุปถัมภ์  ขั้นตอนที่ 2 ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ  9 คน ขั้นตอนที่ 3 ได้แก่  ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน  และผู้ปกครองนักเรียน  350 คน กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตรของยามาเน่ ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น ขั้นตอนที่ 4 ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ โดยการเลือกแบบเจาะจง  9 คน เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลที่ใช้ในการประเมินผลการใช้รูปแบบและคู่มือการใช้รูปแบบ เป็นแบบบันทึกการประชุม และแบบประเมินความถูกต้อง ความเหมาะสม และความเป็นไปได้  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย  และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และแปลความหมาย ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์และสร้างข้อสรุปจากเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า

          1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์ และความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบ พบว่า ผู้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนเป็นผู้ช่วยสนับสนุน โดยสำรวจความต้องการและศักยภาพของผู้เรียนเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารงานวิชาการได้ตรงตามความต้องการและศักยภาพของแต่ละบุคคล

          2. ผลการพัฒนารูปแบบ พบว่า องค์ประกอบของรูปแบบ มี 7 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) ภาวะผู้นำของผู้บริหาร 2) การวางแผนและการพัฒนาหลักสูตร 3) การจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา 4) การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน 5) การวัดและประเมินผล 6) การนิเทศภายในสถานศึกษา และ 7) ผลลัพธ์จากการใช้รูปแบบการบริหารวิชาการ

          3. ผลการทดลองใช้รูปแบบ  พบว่า มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับมากที่สุดทุกรายการ

         4. ผลการประเมินผลการใช้รูปแบบ พบว่า องค์ประกอบด้านความถูกต้อง ความเหมาะสม และความเป็นไปได้ ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุดทุกรายการ