Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง การประยุกต์สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 โดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษามหาสารคาม

ผู้วิจัย อิสราพร สุขประเสริฐ

ปีการศึกษา 2567

วันที่เผยแพร่ 12 กันยายน 2567

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์โดยใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค Student Teams – Achievement Division (STAD) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 และเพื่อสอบถามความคิดเห็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2/1 เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD มีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 30 คน โดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จากจำนวนห้องเรียน 3 ห้อง เลือกมา 1 ห้อง ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนมัธยมยางสีสุราช อำเภอยางสีสุราช  จังหวัดมหาสารคาม เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ปรนัย จำนวน 10 ข้อ แบบสังเกตพฤติกรรมการใช้ทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค  STAD มาตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา โดยผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ได้ผลการวิจัยดังนี้ 

      นักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่เรียนด้วยกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD มีทักษะการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์พบว่านักเรียนที่มีคะแนนทดสอบผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 ของคะแนนเต็มของแบบทดสอบมีจำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ  66.67 ของนักเรียนทั้งหมด  แต่เมื่อคิดเป็นร้อยละของนักเรียนกลุ่มเป้าหมายถือว่าผ่านเกณฑ์ที่ผู้วิจัยได้ตั้งไว้ ส่วนพฤติกรรมทำงานกลุ่มของนักเรียนพบว่า โดยภาพรวมทักษะการแก้ปัญหาของนักเรียนอยู่ในระดับดีและเมื่อพิจารณาเป็นรายพฤติกรรมย่อย ขั้นตอนที่นักเรียนเกิดความยุ่งยากมากที่สุด คือ การสร้างสมการสำหรับการนำไปสู่การหาคำตอบและจากการศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้พบว่านักเรียนมีความคิดเห็นว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งนี้ช่วยพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้ซึ่งโรงเรียนมัธยมยางสีสุราช สามารถส่งเสริมให้ครูนำการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD ไปปรับปรุงและประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในเรื่องอื่นๆเพื่อเป็นการพัฒนาทักษะการแก้ปัญญาของนักเรียนต่อไปได้