Vichakan.net - เผยแพร่ผลงานวิชาการ

ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษา โรงเรียนวัดสาลีโขภิตาราม (อุ่น-อนุสรณ์)

ผู้วิจัย สุรีภรณ์ พวงแก้ว

ปีการศึกษา 2566

วันที่เผยแพร่ 29 ตุลาคม 2567

บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง          การประเมินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษา

                    โรงเรียนวัดสาลีโขภิตาราม (อุ่น-อนุสรณ์)

ผู้วิจัย             สุรีภรณ์ พวงแก้ว

สถานที่วิจัย     โรงเรียนวัดสาลีโขภิตาราม (อุ่น-อนุสรณ์) ตำบลบางพลับ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ปีที่พิมพ์          2566

 

 

บทคัดย่อ

           

          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษา โรงเรียนวัดสาลีโขภิตาราม (อุ่น-อนุสรณ์) โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินแบบจำลองซิป (CIPP Model) และเพื่อหาแบบปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษาตามแนวทางการพัฒนาเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษา สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Moral Development School : MSD)  กลุ่มตัวอย่างประเมินโครงการ จำนวน 196 คน กลุ่มตัวอย่างในการหาแบบปฏิบัติที่ดี  จำนวน 19  คน เครื่องมือที่ใช้การวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบการสนทนากลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา

          ผลการวิจัยพบว่า

          ตอนที่ 1 การประเมินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษา

1.      ด้านบริบท พบว่า การกำหนดวัตถุประสงค์สอดคล้องกับโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและของโรงเรียน วัตถุประสงค์ของโครงการมีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาของโรงเรียนในปัจจุบันมีความชัดเจนชัดเจน ผู้บริหาร บุคลากร นักเรียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของโครงการ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด

2.   ด้านปัจจัยนำเข้า  พบว่า โรงเรียนมีการแต่งตั้งบุคลากรที่รับผิดชอบโครงการ เป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีจำนวน เพียงพอ  ชุมชน และผู้ปกครองนักเรียนให้ความสำคัญและสนับสนุนโครงการ มีวัสดุอุปกรณ์ / เครื่องมือในการดำเนินงานโครงการที่ความเหมาะสมและเพียงพอ กิจกรรมของโครงการมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพของโรงเรียน กรอบเวลาในการจัดกิจกรรมของมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทโรงเรียนและโรงเรียนมีการประสานงาน ร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ  มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด

3.      ด้านกระบวนการ พบว่า โรงเรียนได้ดำเนินการตามโครงการเป็นไปตามแผนปฏิบัติการ มีการวางแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน บุคลากรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในวางแผนดำเนินงานครบทุกกิจกรรม  เน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงที่สามารถเชื่อมโยงกับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีการประเมินผลและสรุปผลการดำเนินงาน นำผลการประเมินมาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด

               4. ด้านผลผลิต ประกอบด้วยการประเมิน 2 ด้าน ดังนี้

                    4.1 ด้านผลการดำเนินงาน พบว่า นักเรียนรักและสามัคคีในหมู่คณะ มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น สามารถดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายและจิตใจ นักเรียนมีความสุภาพ

อ่อนน้อมถ่อมตนและไม่ก้าวร้าว มีน้ำใจและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น ส่วนในด้านนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต นักเรียนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย สามารถดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตนเองไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น นักเรียนมีกิจกรรมการผลิตเพื่อพึ่งตนเองเพื่อการบริโภค กิจกรรมการเกษตรในครอบครัว เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ใช้เหตุผลในการตัดสินใจอย่างรอบคอบในการดำเนินชีวิตประจำวัน และนักเรียนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก

               4.2 ด้านผลกระทบ พบว่า นักเรียนมีการพัฒนาพฤติกรรมด้านคุณธรรมจริยธรรมและคุณลักษณะที่เกี่ยวกับคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการดีขึ้น นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชนที่โรงเรียนได้จัดทำพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงด้านคุณธรรมจริยธรรมและการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในบริบทสังคมตนเองได้อย่างมีความสุข  

          ตอนที่ 2 การนำเสนอแบบปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษา

               1. ด้านกระบวนการบริหาร พบว่า ผู้บริหารโรงเรียนมีความรู้ความเข้าใจ เจตคติที่ดี และมีวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการโครงการ สามารถบริหารจัดการ ให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ใน สถานศึกษามีการจัดการสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และสังคมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรม ส่งเสริมสนับสนุน ยกย่องเชิดชูเกียรติ บุคคลและองค์กร สร้างการที่มีส่วนร่วม และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาและมีการขยายผล สร้างเครือข่ายอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

               2. ด้านครู พบว่า บุคลากรมีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียน จัดการเรียนการสอนที่สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมทั้งภายในและนอกห้องเรียน มีการรายงานโครงการ/กิจกรรม และผลงานนักเรียน และมีรายงานผลและประชาสัมพันธ์แก่คนที่เกี่ยวข้องทราบ

               3. ด้านคุณภาพนักเรียน พบว่า ผลการประเมินการดำเนินงานของนักเรียนจากการพัฒนาเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสู่การปฏิบัติ (Moral Development School : MSD) ของโรงเรียนวัดสาลีโขภิตาราม (อุ่น-อนุสรณ์) ปีการศึกษา 2566 มีคะแนนเฉลี่ย 5.00 มีคุณภาพอยู่ระดับดีมาก ชุมชนมีความตระหนักและเห็นความสำคัญให้การยอมรับ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีความพึงพอใจและให้ความร่วมมือและช่วยเหลือเมื่อโรงเรียนจัดกิจกรรม

          จากข้อมูลสารสนเทศดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษาในรูปแบบตามโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมภายในสถานศึกษา โรงเรียนวัดสาลีโขภิตาราม (อุ่น-อนุสรณ์) จึงเป็นแบบการปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ที่สุด สามารถเป็นแบบอย่างแก่หน่วยงานอื่นในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนได้